วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีสภาพพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ป่าเขาลำปี ซึ่งมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก ยอดเขาขนิม เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มองเห็นทะเลอันดามัน และทิวทัศน์ของลำน้ำที่ไหลคดเคี้ยวจนออกสู่ทะเลอันดามัน อีกส่วนหนึ่งคือ ชายหาดท้ายเหมืองเป็นหาดทรายขาวสะอาดกว้างและยาว มีความเงียบสงบ รวมเนื้อที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมดประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 72 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาตินี้ เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามของ " น้ำตกลำปี " และกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติได้มีบันทึกกรมป่าไม้ที่ กส 0711/973 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2523 เสนอร่างกฎกระทรวงให้ป่าเขาลำปี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และ ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีบันทึกลงวันที่ 11 สิงหาคม 2523 ถึงกรมป่าไม้ ความว่า “นายบรรหาร ศิลปอาชา ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นโยบายว่า ป่าที่จะสงวนนั้น ถ้าการดำเนินการล่าช้า มีผู้บุกรุกหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วมากรายขอให้พิจารณาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ส่วนที่ยังเหลืออยู่และไม่มีปัญหาให้พิจารณาว่า ให้มีประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่ ให้กองอุทยานแห่งชาติเสนอความคิดเห็นด้วย” กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งที่ 1617/2523 ลงวันที่ 15 กันยายน 2523 ให้ นายธีระศักดิ์ บุญชูดวง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ป่าเขาลำปีเป็นป่าซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 ให้รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรของชาติ มีน้ำตกร่มรื่นสวยงามตามธรรมชาติ คือ น้ำตกลำปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เคยมาเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้ด้วย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าชุกชุม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจที่ กส 0708(อพ)/12 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 ซึ่งมีมติให้กรมป่าไม้พิจารณาประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติไปพลางก่อน และขณะเดียวกันก็ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดการให้เป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติจึงได้เสนอกรมป่าไม้ มีคำสั่งที่ 894/2526 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2526 ให้ นายไชโย ยิ่งเภตรา เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานเขาลำปี ต่อมา วนอุทยานเขาลำปีได้มีหนังสือที่ กษ 0712(ลป)/17 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2526 ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นป่าเขาลำปีและหาดทรายชายทะเลท้ายเหมืองเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวนอกจากจะมีน้ำตกลำปี ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีความร่มรื่นสวยงามตามธรรมชาติ ยังสำรวจพบน้ำตกโตนย่านไทร (น้ำตกโตนไพร) จุดชมวิวบนยอดเขาขนิม และในบริเวณใกล้เคียงมีชายหาดที่สวยงาม กว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นหาดทรายขาวสะอาด เงียบสงบ มีป่าทุ่งเสม็ดขาว และพันธุ์ไม้ชายทะเลนานาชนิดขึ้นอยู่ ตลอดจนเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลและที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก ซึ่งกรมป่าไม้ได้ดำเนินการประกาศป่าเขาลำปีเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,023 (พ.ศ. 2526) ออกตามความพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 192 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2526 และกองอุทยานแห่งชาติได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ซึ่งได้มีมติเห็นควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณป่าเขาลำปี และหาดท้ายเหมือง ในท้องที่ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง และตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 59 ลงวันที่ 14 เมษายน 2529 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 52 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็นสองส่วนโดยมีถนนเพชรเกษมเป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันที่มีความยาวของชายหาดประมาณ 13.6 กิโลเมตร และ เทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ รวมเนื้อทั้งหมด ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลนาเตย ตำบลบางทอง ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 8 องศา 23 ลิบดา-8 องศา 33 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 12 ลิบดา-98 องศา 20 ลิบดา ตะวันออก โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งมีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตที่ดินทหารเรือ ทิศใต้จดคลองหินลาด ทิศตะวันออกจดที่ดินสาธารณประโยชน์อำเภอท้ายเหมือง และทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ส่วนบริเวณเทือกเขาลำปีมีอาณาเขตทิศเหนือจดบ้านเขากล้วยและบ้านอินทนิน ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง ทิศใต้จดบ้านนาตาคำ และบ้านกลาง ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง ทิศตะวันออกจดบ้านห้วยทราย ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง และทิศตะวันตกจดบ้านบ่อหิน บ้านลำปี ตำบลท้ายเหมือง และบ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมืองบริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร มีส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 1.6 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 350 เมตร ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด ซึ่งน้ำส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี และบริเวณเทือกเขาลำปีเป็นภูเขาสลับซับซ้อนเรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วย เขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูงประมาณ 622 เมตรจากระดับน้ำทะเล เทือกเขาส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี ประเภทหินแกรนิต ในยุคไทรแอสสิค-ครีเตเชียส มีอายุอยู่ในช่วง 60-140 ล้านปี หินเหล่านี้มีความคงทนต่อการกัดกร่อนสูง มีลำน้ำหลายสายที่เกิดจากเทือกเขาลำปี เช่น คลองขนิม คลองลำปี คลองบางปอ คลองลำหลัง คลองพลุ คลองคำนึง และคลองอินทนิน เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม พัดพาความชุ่มชื่นจากมหาสมุทรอินเดียมายังแผ่นดิน ทำให้เกิดฝนตกชุกในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้เป็นแนวกั้น ทำให้ลมมีกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ก็สามารถส่งผลให้เกิดฝนตกได้บ้างแต่มีปริมาณไม่มากนัก ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูแล้ง ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมน้อย อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณฝนจะมีน้อย โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส.ในเดือนเมษายน และต่ำสุดเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงประมาณ 2,800-3,000 มิลลิเมตร

พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าในบริเวณเทือกเขาลำปีเป็น ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว กระบาก เทพทาโร ยมหอม สุเหรียน ทุ้งฟ้า พลอง ฉก ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ปุด เร่วดง หวายขม หวายขริง หวายกำพวน ไผ่ หมากผู้หมากเมีย คล้า กล้วยป่า และบริเวณที่ใกล้ลำธารจะเป็นเฟินตีนตะขาบ โปรงทอง ลำเพ็ง ผักกูด และกูดขน เป็นต้น เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวรุ้ง ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า นกแสกแดง นกเค้าป่าสีน้ำตาล นกโพระดก นกพญาไฟ ชะนีมือขาว ลิงเสน ลิงกัง ค่าง สมเสร็จ เก้ง และเลียงผา เป็นต้น บริเวณหาดท้ายเหมืองเป็นที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกจรด ป่าชายเลน ที่ขึ้นอยู่ริมคลอง พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ถั่วดำ ถั่วขาว แสมขาว และแสมดำ บางส่วนเป็นป่าจากล้วน ป่าชายเลนนี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และสถานที่วางไข่ของสัตว์บกและสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ จึงเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น นกกาน้ำเล็ก นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกแต้วแล้วป่าโกงกาง ลิงแสม พังพอนกินปู เหี้ย งูปากกว้างน้ำเค็ม งูสามเหลี่ยม งูแสมรัง และปลาซิวข้าวสารชวา เป็นต้น บริเวณชายหาดจะเป็น ป่าชายหาด มี สนทะเล จิกเล หูกวาง หยีทะเล ปอทะเล เมา มะนาวผี และรักทะเล ส่วนพืชพื้นล่างได้แก่ สังหยู สาบเสือ ลำเท็ง ปรงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล และถั่วทะเล ขึ้นอยู่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิด เช่น เหยี่ยวขาว นกออก ไก่ป่า นกกวัก นกหัวโตทรายเล็ก นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกบั้งรอกใหญ่ นกกะเต็นอกลาย นกตะขาบดง นกแซงแซวหางปลา ลิ่นชวา กระแตใต้ ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ชะมดแผงสันหางดำ พังพอนเล็ก แย้ จิ้งเหลนบ้านเป็นต้น บริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองประมาณ 1,000 ไร่ มีสภาพเป็น ป่าพรุ ที่มีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี สภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล สังคมพืชที่เด่นชัดในสภาพป่านี้คือ เสม็ดขาว บริเวณที่ดอนจะมีเสม็ดแดง ชะมวงป่า มะพลับพรุ ตีนเป็ด และหว้าน้ำ ขึ้นปะปน พืชอิงอาศัยที่ขึ้นรอบลำต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น กระแตไต่ไม้ สไบสีดา เกล็ดนาคราช เฟินก้ามปู และเฟินข้าหลวง โดยมี กระดุมเงิน โคลงเคลง ปลาไหลเผือก เข็มป่า รามใหญ่ กะทือ ย่านาง มันเทียน หวายลิง และเอื้องหมายนา เป็นพืชพื้นล่าง สัตว์ป่าที่สำคัญและสำรวจพบในป่านี้ได้แก่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกอีลุ้ม นกกระแตแต้แว้ด นกตบยุงหางยาว นกกะเต็นอกขาว หมูหริ่ง นากใหญ่ขนเรียบ หมีขอ หมูป่า กระรอกลายท้องแดง เต่านา ตะกวด งูหลามปากเป็ด งูเหลือม กบนา ปลาดุกลำพัน และปลาหัวตะกั่ว เป็นต้นในบริเวณแหล่งน้ำ ห้วย และลำคลองต่างๆ สำรวจพบปลาน้ำจืด 31 ชนิด ได้แก่ ปลาสลาด ปลาซิวใบไผ่ ปลาแขยงหิน ปลาดุกลำพัน ปลาซิวข้าวสารแคระ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาก้าง ปลานิล เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบบริเวณชายฝั่งหาดท้ายเหมืองได้แก่ ปลาทราย ปลากระบอก เต่ากระ เต่าหญ้า ปูลม ปูแสม หอยมวนพลู หอยตลับลาย กุ้งฝอย กุ้งตะกาด แมงกะพรุน ฯลฯ

ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551

มอเก็น หรือชาวเล ชนเผ่าผู้ร่อนเร่อยู่ในอันดามัน

ชาวเล หรือยิปซีทะเล เป็นกลุ่มชนร่อนเร่อยู่ในบริเวณทะเลอันดามัน ชื่อที่คนส่วนใหญ่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ชาวเล คงจะเนื่องมาจากการที่พวกเขาเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในท้องทะเล เป็นส่วนใหญ่ แม้ภาษามลายูที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า โอรังละอุต ก็แปลว่า คนทะเล ชาวพม่าแถบหมู่เกาะมะริด เรียกชนกลุ่มนี้ว่าเสลุง เสลอง หรือ เสลอน แต่ชาวเลเรียกตัวเองว่า มอเก็น หรือ เมาเก็น เดิมชาวเลก็มีถิ่นฐานอยู่บนพื้นแผ่นดินใหญ่แต่ถูกรุกรานจากพวกมาเลย์มากขึ้นก็พากันอพยพลงเรือหนีไปตามเกาะต่างๆจนกลายเป็นต้องใช้ชีวิตรอนแรมบนเรือตลอดมา

ชาวเลมี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มมอเก็น ,มอเกล็น กับ กลุ่มอูรักลาโว้ย กลุ่มมอเก็นยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ 2 กลุ่มตามถิ่นที่อยู่ คือ มอเก็นปูลาที่ลอยเรืออยู่ตาม เกาะมะริด (Mergui Archipelago) และชายฝั่งในประเทศพม่า ลงมาถึงบริเวณเกาะในจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน ในจังหวัดพังงา และมอเก็นตามับซึ่งอาศัยอยู่ตาม เกาะพระ ทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ตลอดจนแถบชายฝั่งของอำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พวกมอเกล็นอาศัยอยู่บริเวณแหลมหลา จังหวัดภูเก็ต ท้ายเหมือง และตะกั่วป่า จ.พังงา ส่วนกลุ่มอูรักลาโว้ย เร่ร่อนอยู่บริเวณเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ แหลมหลา บ้านเหนือ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต นักวิชาการบางคน เชื่อว่า ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของมลายู ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัย เสียอีก ชาวมลายูเรียกชาวเลว่า โอรัง ละอุต (Orang Luat) แปลว่า คนทะเล

ชาวเลจะรวมกลุ่มและเดินทางไปในเรือพร้อมด้วยสมาชิก 10-40 คน ภายในกลุ่มจะมีผู้ชำนาญในการเดินเรือ และทำหน้าที่คล้ายหัวหน้ากลุ่มชาวเลจะย้ายถิ่นแบบชั่วคราว เพื่อไป หาอาหารตามที่ต่าง ๆ แถบชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ โดยจะย้ายไปตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูมรสุม นอกจากนี้ชาวเลอาจจะต้องมีการย้ายถิ่น เพราะภัยจาก ธรรมชาติ การถูกรุกรานจากกลุ่มอื่นเมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งตายหรือหนีโรคระบาดอย่างใด อย่างหนึ่ง บ้านของ ชาวเลคือเรือ มีความยาวประมาณ 20-25 ฟุต แต่บางพวกอาจ สร้างบ้านชั่วคราวบนฝั่ง ทำจากใบปาล์ม หรือมะพร้าว ยกพื้นสูง ไม่มีระเบียงมีนอกชาน ชาวเลไม่ ปลูกเรือนขวางดวงอาทิตย์ (ประเทือง 2539, น.23-24) ปัจจุบัน ชาวเลเริ่มรู้จัก สร้างบ้านเรือนเลียนแบบคนพื้นเมือง ถาวร และเคลื่อนย้ายได้ยากขึ้น

ระบบครอบครัวของชาวเล เป็นครอบครัวขนาดเล็กจนถึงปานกลาง เพราะต้องร่อนเร่ย้ายถิ่นเพื่อหาอาหารตามที่ต่าง ๆ ชาวเลถือฝ่ายมารดาเป็นใหญ่พวกเขาถือว่ามีลูกสาวจะมีค่า เหมือนได้ทอง เพราะเมื่อแต่งงานแล้วลูกเขยจะมาอยู่กับภรรยา บิดามารดาของผู้หญิงจะได้แรงงานมาช่วย หน้าที่ของผู้ชาย ได้แก่ ออกทะเลไปหาปลา ตักน้ำ หาฟืนหุงอาหาร ซักผ้า ขณะที่ผู้หญิงสบายกว่า ผู้หญิงชาวเลจะรวมตัวกันริมชายหาด นั่งบ้าง นอนบ้าง (ประเทือง 2539, น.28) ปัจจุบัน ครอบครัวชาวเลเริ่มใช้นามสกุลตามกำหนดของราชการ นามสกุลที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลลึก ช้างน้ำ ประมงกิจ นาวารักษ์ หาญทะเล เป็นต้น (ประเทือง 2539 น.30-32)

ระบบเศรษฐกิจของชาวเล ยังชีพด้วยการหาอาหารตามทะเลน้ำตื้น เช่น จับปลา ดักปลา และหาเก็บพืชผลที่ขึ้นเองตามชายฝั่ง อาหารหลักคือข้าว โดยได้มาจาก การแลกเปลี่ยน ชาวเลจะใช้ปลา เปลือกหอย ปะการัง ไปแลกข้าวกับชาวบ้าน (ประเทือง 2539, น.33 และ Lebar and others 1964, p.264) อาหารอื่นๆ ได้แก่ หัวกลอย มะพร้าว เผือก มันเทศ กล้วย นำมาต้ม ย่าง เผากินยามขัดสน ปัจจุบันชาวเลรับจ้างนายทุนงมสิ่งของในทะเล เช่น เปลือกหอยแปลก ๆ แทงกุ้ง ปลา หอย เป็นต้น

ศาสนาและความเชื่อของชาวเล ชาวเลไม่มีศาสนา แต่มีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ ชาวเลนับถือบรรพบุรุษเรียกว่า “ดะโต๊ะ” โดยจะสร้างเป็นศาลไว้ มีรูปปั้นผีที่ชาวเล เชื่ออยู่ใน ธรรมชาติ เช่น ผีปู ผีหอย ผีไม้ ผีน้ำ ผีพุ่งใต้ (ผีชิน) ชาวเลเชื่อว่า ผีชินช่วยหาปลาบอกแหล่งอาศัยของปลาชาวเลยังเชื่อเรื่องโชคลาง มาก และเชื่อว่าผีควบคุมโชคชะตา การเจ็บป่วย (Lebar and others 1964, p.265 และประเทือง 2539, น.65-67) ชาวเล มีหมอผีประจำกลุ่ม ทำหน้าที่ทำนายโชคชะตา ดูฤกษ์ ยามในการสร้างบ้าน และเป็นผู้ประกอบ พิธีกรรม

ประเพณีที่สำคัญของชาวเล: พิธีลอยเรือ ชาวเลเชื่อกันว่าพิธีลอยเรือนี้จะเป็นพิธีที่ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่เกาะ ให้เรือนำเอาความชั่วร้ายอัปมงคลออกไป พิธีนี้จะปล่อยให้เรือ หาย ไปในทะเลลึก ถ้าเรือกลับขึ้นฝั่งแสดงว่าเป็นลางร้ายจะต้องทำพิธีกันใหม่ ประเพณีนี้จะกระทำในวันขึ้น 13-15 ค่ำและวันแรม 1 ค่ำของเดือน 6 และเดือน 11แต่ละครั้งใช้เวลา 4 วัน วันแรกจะเริ่มจากการอาบน้ำมนต์ ซึ่งชาวบ้านจะนำเอาโอ่งไหที่บรรจุน้ำและหัวไพลมาวางตรงลานบ้าน ชาวเลเชื่อว่า หัวไพลนั้นจะช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากร่างกาย แต่ละบ้านจัดเอาหมากพลู มะกรูดมะนาว ด้าย และเศษสตางค์มาประกอบในพิธีด้วย เมื่อเวลาพลบค่ำ โต๊ะหมอ ผู้นำในการประกอบพิธีจะสวดมนต์ทำพิธีและมีการร้องเพลง อันเชิญ เทพเจ้าให้มาคุ้มครองพวกเขา และหญิงสูงอายุของกลุ่มจะรำถวายเทพเจ้า จนถึงเช้าก็จะมีการ อาบน้ำมนต์เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลออกไป วันรุ่งขึ้นก็จะทำพิธีลอยเรือ จะมีชาวเลกลุ่ม หนึ่งไปหาไม้เพื่อมาใช้ต่อเรือซึ่งจะใช้ไม้เนื้ออ่อนและไม้ระกำ ตอนบ่ายจะมีขบวนแห่ไม้ที่จะใช้นี้ไปรอยๆ หมู่บ้าน และทำพิธีในตอนกลาง คืนเมื่อช่วยกันต่อเรือเสร็จทุกคนจะมา พร้อมกันที่เรือ และจะนำข้าวตอกมาโปรดไปทั่วร่างกายเพื่อ เป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากตัวแล้วจึงทิ้งข้าวตอกนั้นลงในเรือ วึ่งจะมีการรำไปรอบๆ เรือจนถึงเช้ามืดจึงช่วยกันยกเรือ พิธีไปใส่ในเรือจริงเพือ่นำไปปล่อยกลางทะเลลึก ซึ่งผู้ที่นำเรือไปปล่อยจะต้องเฝ้าดูว่าเรือนั้นจะไม่ย้อนกลับเข้าหาฝั่ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ข้อมูลจาก http://www3.sac.or.th/ethnic/Content/Information/moken.html

เล่นน้ำ สงกรานต์ ที่อันดามัน

ก่อนไปเล่นน้ำสงกรานต์ มาดูประวัติวันสงกรานต์ กันซักหน่อยนะจ้ะ

สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบ เวียตนาม และ มณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤตหมายถึง การเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้จะเป็นวันทีผู้คนสนุกสนานกับการเล่นน้ำโดยการสาดน้ำเข้าใส่ซึ่งกันและกันเพื่อให้ผู้อื่นเปียก ทำให้ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยน จุลศักราช และเริ่มใช้กาลโยค ประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก ช่วงสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มักมีการประกาศเป็นวันหยุด 4-5 วันเกือบทุกปี วันนี้ก็เลยเป็นวันที่ผู้คนมักจะถือโอกาสเดินทางกลับบ้านเกิด ทำให้วันที่ 14 เมษายน กลายเป็น "วันครอบครัว" อีกวันหนึ่ง

วันแรกของเทศกาล ถึงวันสุดท้ายของเทศกาล มักเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงจัดให้เป็น "7 วันอันตราย" และมีการตั้งด่านตรวจผู้ดื่มสุรา แล้วขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์

อ่านจบแล้วก็ขอให้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนาน แต่อย่าลืมประโยคนี้นะจ้ะ "เมาไม่ขับ"

รอพบกับภาพสงกรานต์จาก อันดามันไทย เร็วๆ นี้

หมูย่างตรัง ตำรับความอร่อยจากเมืองตรัง

ถ้าพูดถึงหมูย่าง คนทั่วทั้งอันดามันก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก หมูย่างตรัง อร่อยและขึ้นชื่อขนาดใหน ก็ให้ดูคำขวัญเมืองตรังนี้ก็แล้วกัน "เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา" ขนาดเป็นคำขวัญจังหวัด ไม่อร่อยไม่ได้แล้ว

หมูย่างเมืองตรังได้รับการจดทะเบียน เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของจังหวัดตรังแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และรสชาติของหมูย่างเมืองตรัง ที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น โดยที่ผ่านมาพบว่ามีการลอกเลียนแบบและนำชื่อเสียงหมูย่างเมืองตรังไปติดป้ายขายในต่างจังหวัดจำนวนมาก โดยที่รสชาติและกรรมวิธีการทำไม่ได้เป็นไปตามสูตรหมูย่างเมืองตรัง ซึ่งอาจจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน จึงได้มีการควบคุมด้วยการจดทะเบียนหมูย่างเมืองตรัง เข้าโครงการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ โดยผู้ที่จะนำหมูย่างเมืองตรังไปขายที่อื่น ต้องติดป้ายแสดงว่าเป็นหมูย่างสูตรเมืองตรัง จะติดป้ายแสดงว่าเป็นหมูย่างเมืองตรังไม่ได้ หากพบว่ามีผู้ที่จงใจแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นหมูย่างเมืองตรัง ก็จะถือเป็นการกระทำที่ผิด กฎหมาย

หอการค้าและ ชมรมผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง กำหนดจัดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรังขึ้นทุกปี โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การจำหน่ายหมู่ย่างราคาพิเศษ การแสดงบนเวที การจัดริ้วขบวนของดีเมืองตรัง

เพิ่มเติม: วิธีการทำหมูย่างตรัง

อันดามันไทย มีวิธีการทำหมูย่างตรัง มาฝากครับ แต่เมื่อทำแล้วจะอร่อยเหมือนกับต้นฉบับเขาหรือเปล่า ทางเราไม่รับรอง เอาเป็นว่าบอกกันไว้พอสังเขปก็แล้วกัน อร่อยไม่อร่อยก็อย่าเอาชื่อเขาไปอ้างนะจ้ะ เดี๋ยวหมูย่างเมืองตรัง เขาจะเสียชื่อ

วิธีการทำ

1. วัสดุอุปกรณ์และเครื่องปรุงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหมูย่างนั้นประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
1.1 เตาย่าง ส่วนมากจะทำเป็นท่อสูงขึ้นจากระดับพื้นดิน หรือขุดลึกลงไปในดินก็ได้แต่ต้องมีช่องก่อไฟอยู่ข้าง ๆ เตา
1.2 เครื่องปรุง สำหรับใช้หมักหมูก่อนย่าง ได้แก่ น้ำผึ้ง เครื่องเทศ
1.3 หมูขนาดน้ำหนักไม่ควรเกิน 30 กิโลกรัม

2. วิธีการย่างหมู

การทำหมูย่างสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
2.1 นำหมูมาชำแหละเอาเครื่องในออกให้หมด และแล่เนื้อส่วนที่หนา ๆ เช่น เนื้อสะโพกออกแล้วล้างให้สะอาด ต่อจากนั้นนำเครื่องเทศมาผสมกับน้ำผึ้งคลุกให้เข้ากันแล้วมาคลุกกับหมูหมักไว้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง
2.2 ก่อไฟในเตาจนไฟลุกนานประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเขี่ยถ่านไฟออกให้หมดหย่อนกระทะลงไปไว้ในเตา
2.3 ใช้ตะขอเกี่ยวหมูหย่อนลงไปในเตาให้ตรงกับกระทะที่วางไว้ก่อนแล้ว พร้อมปิดปากเผาไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงยกหมูออกมาคลุกเครื่องปรุงอีกครั้งแล้วหย่อนหมูลงไปย่างใหม่อีกนานประมาณ 30 นาทีหมูก็จะสุกหนังกรอบ

ประโยชน์

1. หมูย่างใช้รับประทานเป็นกับข้าว ให้โปรตีนและไขมัน
2. นิยมนำไปใช้ประกอบพิธีไหว้เจ้า ในเทศกาลต่าง ๆ
3. ปัจจุบันชาวตรังนิยมกินหมูย่างแกล้มกาแฟ และเป็นหนึ่งในอาหารเช้าซึ่งเป็นที่นิยมของชาวตรัง

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2551

พระอาทิตย์ตกที่ แหลมพรหมเทพ

ถ้ากล่าวถึงอันดันมัน แล้วไม่ได้กล่าวถึงแหลมพรหมเทพ ก็คิดว่ามันคงเหมือนจะขาดอะไร ไปซักอย่างหนึ่ง หลายท่านอาจจะรู้จักแหลมพรหมเทพ หลายท่านอาจจะยังไม่เคยรู้จักแหลมพรหมเทพ แต่ถ้าท่านได้ฟังพยากรณ์เวลาพระอาทิตย์ตก ของวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ท่านคงเคยได้ยินว่า "พระอาทิตย์ตกที่ ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ เวลา ... น." และที่นี้คือที่ใช้วัดเวลาพระอาทิตย์ตกของประเทศไทย

แหลมพรหมเทพ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตระการตา ลักษณะของแหลมพรหมเทพ มีลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นออกไปนอกทะเล โดยมีกลุ่มต้นตาลขึ้นเป็นระยะ นี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของที่แห่งนี้ ถ้ามองจากประภาคารกาญจนาภิเษก จะเป็นหน้าผาชันลงสู่ทะเล และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์ตกมากที่สุดที่หนึ่ีง ในช่วงยามพระอาทิตย์ใกล้จะตก จุดนี้จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เป็นจำนวนมาก

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

ตำนานอ่าวพระนาง

มีตำนานเล่าว่า มีหมู่บ้านใหญ่ 2 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล หมู่บ้านแรก มีหัวหน้าชื่อ "ตายมดึง" เมียชื่อ "ยายรำพึง" ส่วนอีกหมู่บ้านหนึ่ง มีหัวหน้าชื่อ "ตาวาปราบ" เมียชื่อ "บามัย" มีลูกชายชื่อ "บุญ" ทั้งสองหมู่บ้านนี้เป็นอริต่อกันมาช้านาน

ยายรำพึงนั้นอยากจะได้ลูกสาวไว้เชยชมสักคนหนึ่ง จึงไปบนบานศาลกล่าวกับ พญานาค ผู้เป็นเจ้ารักษาท้องทะเล ให้ดลบันดาลให้ตนมีลูกสาว แต่กลับมีข้อแม้ว่า เมื่อนางเป็นสาวแล้วจะต้องให้แต่งงานกับลูกชายของพยานาค ซึ่งมักแปลงกายเป็นมนุษย์ขึ้นมาท่องเที่ยวอยู่เสมอ สองตายายก็รับสัญญา หลังจากนั้นไม่นานยายรำพึง ก็ท้อง และได้ลูกสาวสมใจ ให้ชื่อว่า "นาง"

เรื่องราวผ่านไปเมื่อ "นาง" โตเป็นสาว ก็เป็นที่หมายปองของ "บุญ" ซึ่งเป็นลูกชายของ "ตาวาปราบ" "บุญ" ได้ไปอ้อนวอนให้ "ตาวาปราบ" ไปขอคืนดีกับ "ตายมดึง" และขอให้ "นาง" ได้แต่งงานกับตน ด้วยความรักลูก "ตาวาปราบ" ยอมลดทิฐิไปสู่ขอ "นาง" ลูกสาว "ตายมดึง" ส่วนฝ่าย "ตายมดึง" ก็อยากจะให้ลูกสาวแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา จึงยอมตกลงยกลูกสาวให้ โดยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับ พญานาค

เมื่อวันแต่งงานมาถึง ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จัดกระบวนขันหมากยาวเหยียดมาทางชายทะเล นำโดย "ตาวาปราบ" สะพายดาบไว้บนบ่าทั้งซ้าย ขวา เล่มหนึ่งใหญ่ เล่มหนึ่งเล็ก ในขณะที่งานกำลังดำเนินไปด้วยความสนุกสนานนั้น เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น พญานาคที่แปลงกายมาเป็นมนุษย์ ก็เข้าแย่งชิงเจ้าสาว เกิดวิวาทฆ่าฟันกันขึ้น แต่ พญานาค ยังไม่สามารถแย่งชิงได้ "ตายมดึง" เห็นท่าไม่ดีก็พา "นาง" หนีไป ส่วน "ตาวาปราบ" เห็นเข้าก็เข้าขัดขวางไม่ยอมให้เอาตัว "นาง" ไป จึงดึงดาบเล่มใหญ่ขว้างไปหมายจะฆ่า "ตายมดึง" แต่ไม่ถูก หลังจากนั้นก็ดึงดาบเล่มเล็กขว้างไปอีก แต่ปรากฏว่าพลาดเป้าอีกเช่นเคย

หลังจากที่มีการฆ่าฟันกันอย่างดุเดือดนั้น ร้อนถึงพระฤาษีซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ในถ้ำออกมาห้ามปรามแต่ไม่มีใครเชื่อฟังพระฤาษีโกรธมาก จึงสาปให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นหิน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน เครื่องใช้ บ้านเรือนก็กลายเป็นภูเขา เป็นถ้ำ เป็นเกาะแก่งในทะเลทั้งสิ้น เช่น บ้านเจ้าสาวกลายเป็น ภูเขา ที่ อ่าวพระนาง เรือนหอกลายเป็นถ้ำ เรียกว่า "ถ้ำพระนาง" ข้าวเหนียวกวนที่นำมาเลี้ยงกันหกเรี่ยราดกลายเป็นเปลือกหอยทับถมในทะเลต่อมากลายเป็น "สุสานหอย" ฝ่ายพญานาคพยายามกระเสือกกระสนลงทะเลแต่ไปไม่ถึงกลายเป็นหินทางด้านเหนือชาวบ้านเรียกว่า "หงอนนาค" บริเวณที่พญานาคกลิ้งเกลือกกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า "หนองทะเล"

หาดพระนางในบริเวณอ่าวเต็มไปด้วยเกาะแก่งที่มีลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาชายหาดมีทรายขาวละเอียดปะปนด้วยเปลือกหอยชิ้นเล็กๆทับถมกันเป็นชั้นๆมากมาย สิ่งที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของอ่าวพระนางก็คือ "ถ้ำพระนาง" ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสลับซับซ้อนเป็นชั้นๆ นับเป็นสถานที่ที่มีค่าแก่การแวะชมอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นที่น่าสนใจอีกได้แก่ "สระพระนาง", "หาดไร่เล" เป็นต้น

นอกจากนี้ อ่าวพระนาง ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดกระบี่ ที่นักท่องเที่ยวผู้ชอบภูเขา และทะเลไม่ควรพลาด เพราะมีภูมิทัศน์ที่แปลกตากว่าที่อื่น ในท้องทะเล อ้นดามัน

"กินเหนียว ใต้เล" ตำนานรักวิวาห์ใต้สมุทร

กุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก และวันวาเลนไทน์ เป็นเดือนแห่งการมอบความรัก และ ความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน แต่สำหรับจังหว้ด ตรัง เป็นเดือนที่มีคุ่รักถือเอาฤกษ์งามยามดีของเดือนนี้เป็นห้วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่ กับการร่วมพิธี "วิวาห์ใต้สมุทร" งานแต่งงานที่ถูกบรรจุอยู่ในปฏิบัติการท่องเที่ยวระดับโลก โดยหอการค้าจังหวัดตรัง เป็นแกนนำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดจัดขึ้นติดต่อกันเป็นประจำในช่วงเวลานี้ของทุกปี งานวิวาห์ใต้สมุทรได้ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดตรังเป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นซึ่งนำไปสู่พิธีวิวาห์ใต้สมุทรที่โด่งดังไปทั่วโลก มาจากคู่รักหนุ่มสาวนักดำน้ำคู่หนึ่งที่ได้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลตรัง โลกใต้ท้องทะเลสีครามนำมาซึ่งความน่าหลงใหลจนก่อเกิดเป็นความรักอันลึกซึ้ง อีกหนึ่งคู่รักคู่แท้ที่เจ้าบ่าวมีดีกรีถึงนายอำเภอเมืองตรัง "นายอำเภอแป๊ะ" ภูวนาถ-ซินเทียร์ สินทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นนายอำเภอเด่นชัย จ.แพร่ พอย้ายมากินตำแหน่งที่นี่ ท่านนายอำเภอก็ขอถือโอกาสฉลองงานแต่งงานปีที่ 30 ณ ทะเลปากเมงแห่งนี้ "สุรินทร์ โตทับเที่ยง" ประธานหอการค้า จ.ตรัง เป็นคนริเริ่ม "พิธีวิวาห์ใต้สมุทร" จัดให้มีการจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลขึ้นที่นี่ ซึ่งเป็นพิธีจดทะเบียนสมรสใต้สมุทรเป็นแห่งแรกของโลก เมื่อปี 2539 จนได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกในหนังสือ กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ว่าเป็นวิวาห์ใต้สมุทรที่มีคู่สมรสเข้าร่วมแต่งงานใต้น้ำมากที่สุด" ท่านนายอำเภอเริ่มงานพีอาร์เมืองตรังทันที พิธีวิวาห์ใต้สมุทรเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "กินเหนียว ใต้เล" เป็นประเพณีเก่าแก่ของเมืองตรัง "กินเหนียว" ก็คือกินข้าวเหนียวกับแกงไก่ ด้วยชาวตรังมีความเชื่อว่า ข้าวเหนียว ก็คือนัยรักกันเหนียวแน่น ยิ่งถ้าบ้านไหนทำข้าวเหนียวแกงไก่ได้รสชาติดี อนาคตครอบครัวนั้นก็จะมีความสุโขยิ่งนัก กิจกรรมนี้ถือได้ว่าเป็นการเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีแต่งงานแบบชาวอันดามันที่ก้องโลก