วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551

เล่นน้ำ สงกรานต์ ที่อันดามัน

ก่อนไปเล่นน้ำสงกรานต์ มาดูประวัติวันสงกรานต์ กันซักหน่อยนะจ้ะ

สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบ เวียตนาม และ มณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤตหมายถึง การเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้จะเป็นวันทีผู้คนสนุกสนานกับการเล่นน้ำโดยการสาดน้ำเข้าใส่ซึ่งกันและกันเพื่อให้ผู้อื่นเปียก ทำให้ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยน จุลศักราช และเริ่มใช้กาลโยค ประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก ช่วงสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มักมีการประกาศเป็นวันหยุด 4-5 วันเกือบทุกปี วันนี้ก็เลยเป็นวันที่ผู้คนมักจะถือโอกาสเดินทางกลับบ้านเกิด ทำให้วันที่ 14 เมษายน กลายเป็น "วันครอบครัว" อีกวันหนึ่ง

วันแรกของเทศกาล ถึงวันสุดท้ายของเทศกาล มักเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงจัดให้เป็น "7 วันอันตราย" และมีการตั้งด่านตรวจผู้ดื่มสุรา แล้วขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์

อ่านจบแล้วก็ขอให้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนาน แต่อย่าลืมประโยคนี้นะจ้ะ "เมาไม่ขับ"

รอพบกับภาพสงกรานต์จาก อันดามันไทย เร็วๆ นี้

5 ความคิดเห็น:

แมวเหมียว กล่าวว่า...

คุณอยากเล่นสงกรานต์ที่ใหน ในอันดามัน?

ผมอยากไปป่าตอง ภุเก็ต แต่ได้ข่าวว่ารถติดทุกปี
ว่าจะสาดน้ำฝรั่งซักหน่อย สนุกดี

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากไปที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ คนเยอะน่าสนุก มีแต่ชาวต่างชาติทั้งนั้นเลย เคยดูแต่ในทีวีเห็นแล้วก้ออยากไปสัมผัสดูบ้าง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พาแฟนไปเที่ยวชายทะเลดีกว่า วันหยุดตั้งหลายวัน

แมวเหมียว กล่าวว่า...

ถึงความเห็นที่ 2
หาดป่าตองก็มีชาวต่างชาติเยอะนะ
มีทั้ง ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ครบเลย รับรอง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อากาศร้อนๆ แบบนี้ได้ไปนั่งริมชายทะเลกับคนที่รู้ใจ 2 คน คงจะโรแมนติกดีนะ