วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2551

นรกตะรุเตา เป็นแค่ตำนานไปแล้ว

เกาะตะรุเตา อดีตเรือนจำนักโทษฉกรรณ์ ปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้ว ตะรุเตากลายเป็นอุทยานที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงาย ติดอันดับโลก ตั้งตระง่านอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย

ประวัติโดยย่อ

“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก เช่น อ่าวตะโละดาบ อ่าวตะโละอุดัง อ่าวหินงาม ฯลฯ ชื่อเหล่านี้มักจะตั้งตามสภาพที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ เช่น อ่าวหินงาม มีชายหินที่มีความสวยงามตลอดแนว อ่าวตะโละอุดังมีกุ้งทะเลมาก เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร แนวเขตด้านใต้ของอุทยานฯ ติดกับเส้นเขตแดนในทะเล ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยห่างเพียง 4.8 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวนถึง 51 เกาะ มีเนื้อที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทางทะเล 1,260 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เกาะ 230 ตารางกิโลเมตร จัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก เกาะกลาง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ เกาะตะรุเตา ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของ ความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะ และในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงาม ด้วยกลุ่มปะการังหลากสี สวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ตะรุเตา

พ.ศ. 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง

ฤดูการท่องเที่ยว

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2551

อยากรู้เวลาน้ำขึ้นและน้ำลง ของผั่งทะเลอันดามัน

มีคนโทรมาถามว่า เวลาน้ำขึ้นและเวลาน้ำลง ของฝั่งทะเลอันดามัน หาดูได้จากเว็บไหน การดูน้ำขึ้น-น้ำลง เราต้องดูว่าเราอยู่ใกล้สถานีวัดระดับน้ำที่ไหน ก็ให้เลือกคลิกตามลิงค์นั้นเลย

ปากน้ำระนอง
คุระบุรี
อ่าวทับละมุ
เกาะตะเภาน้อย
ปากน้ำตรัง
เกาะตะรุเตา

สำหรับคุณเฉลียว ผู้ขอ อยู่จังหวัดภูเก็ตก็เลือกสถานีวัดระดับน้ำ เกาะตะเภาน้อย เมื่อดาวน์โหลดไฟล์เสร็จ คุณจะได้ไฟล์ Excel บอกระดับน้ำขึ้น-น้ำลง ตลอดทั้งปี ตามต้องการ หวังว่าคงถูกใจนะ

สถานีวัดระดับน้ำทั่วประเทศ
http://www.navy.mi.th/hydro/services08.htm
ข้อมูลจาก กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

มหัศจรรย์ถ้ำเขาช้างหาย

ตรัง เป็นอีกจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทป่าไม้และน้ำตกอยู่อย่างมากมาย รวมไปถึงถ้ำต่าง ๆ อย่างเช่น ถ้ำที่มีชื่อแปลก ๆว่า "ถ้ำเขาช้างหาย" มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เคยมีขบวนจากหัวเมืองทางภาคใต้ยกขบวนเดินทางผ่านมาและได้หยุดพักในบริเวณเขาลูกนี้ ระหว่างนั้นได้มีช้างในขบวนเกิดตกลูก ด้วยความซนและไร้เดียงสาของลูกช้าง เจ้าช้างน้อยได้เดินเล่นเข้าไปในถ้ำแล้วก็หายไป คนในขบวนตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบจึงนำเหตุนั้นมาตั้งเป็นชื่อถ้ำ หากมองจากภายนอกเราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นภูเขาที่ดูธรรมดา ๆ แต่ถ้าได้เดินเข้ามาภายในถ้ำตามทางเดินที่ทางท้องถิ่นได้จัดไว้ เราก็จะได้เห็นหินงอกหินย้อยตั้งแต่ขนาดจิ๋ว ไปจนขนาดใหญ่ยักษ์เรียงรายไปตลอดทาง สวยงามทีเดียว ทางในถ้ำเขาช้างหาย จ.ตรัง อาจจะซับซ้อนสักเล็กน้อยแต่ถ้าเราเดินไปตามเส้นทางที่มีอยู่ก็ไม่มีทางหลงทางอย่างลูกช้างแน่นอน

ถ้ำเขาช้างหาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5-6 ตำบลนาหมื่นศรี ได้ทำพิธีเปิดแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 โดยนายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์จากงบผู้ว่า CEO งบประมาณ 4,700,000 บาท ถ้ำเขาช้างหายถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมะสมอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบธรรมชาติ เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยแบบต่างๆ ที่สวยงามสลับซับซ้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้ำลึกประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาเดินชมประมาณ 20 นาที มีทางเดินคอนกรีตพร้อมทั้งติดไฟตามเส้นทางให้เดินได้อย่างสะดวกสำหรับเดินไปยังถ้ำต่างๆ เช่น ถ้ำช้างหาย ถ้ำเพกา ถ้ำทรายทอง ถ้ำโอง และถ้ำแม่เฒ่าคล้าย

ถ้ำนี้เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับวันธรรมดาจะต้องติดต่อฝ่ายนำเที่ยวเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเปิดประตูถ้ำและไป สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 0 7529 9551 การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปผ้าทอนาหมื่นศรี เลยไปประมาณ 2 กิโลเมตร หรือนั่งรถสองแถวสายตรัง-เขาช่อง ขึ้นรถที่ถนนไทรงาม

แถมพยากรณ์อากาศให้ด้วย

ต่อจากหัวข้อที่แล้ว แถมพยากรณ์อากาศให้ด้วย
ก่อนเดินทางตรวจสอบพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ดีนะ การเดินทางจะได้ราบรื่น

พยากรณ์อากาศ จังหวัดระนอง
พยากรณ์อากาศ จังหวัดพังงา
พยากรณ์อากาศ จังหวัดภูเก็ต
พยากรณ์อากาศ จังหวัดกระบี่
พยากรณ์อากาศ จังหวัดตรัง
พยากรณ์อากาศ จังหวัดสตูล

ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

แผนที่ท่องเที่ยวอันดามัน

แผนที่ท่องเที่ยวอันดามัน สำหรับใครที่คิดจะเดินทางไปท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดอันดามัน พิมพ์ติดรถไปด้วยก็ไม่เลวนะครับ

แผนที่ท่องเที่ยว จังหวัดระนอง
แผนที่ท่องเที่ยว จังหวัดพังงา
แผนที่ท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต
แผนที่ท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่
แผนที่ท่องเที่ยว จังหวัดตรัง
แผนที่ท่องเที่ยว จังหวัดสตูล

ข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551

ทำบูญเดือนสิบ วันสาร์ทไทย

ประเพณีรับส่งตายาย หรือบุญเดือนสิบ สารทเดือนสืบ หรือ 'รับเปรต ส่งเปรต' เพื่ออุทิศส่วนกุศลและแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ในวันรับตายายจะจัดอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน ไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัด ส่วนวันส่งตายาย มีการจัดเตรียมขนมตามคตินิยมเพื่อให้ตายายนำกลับไป จึงเรียกกันว่า 'หนมตายาย' นำไปถวายพระและส่วนหนึ่งเอาไปวางรวมกันไว้ตาม 'ตั้งเปรต' บริเวณประตูวัด ริมกำแพง โคนต้นไม้ในวัด หรือบน 'หลาเปรต' ที่สร้างยกพื้นขึ้นมา เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีเสร็จแล้วชาวบ้านจะเข้าไปแย่งของจากหลาเปรต อย่างสนุกสนาน เรียกว่าการ 'ชิงเปรต'

ประเพณีสารทเดือน 10 ประเพณีชักพระบก ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีสารทเดือน 10

เมื่อเอ่ยถึงประเพณีสารทเดือน 10 คนในพื้นที่จังหวัดในภาคไต้ ก็จะรู้จักกันดี รวมไปถึง คนใน 6 จังหวัดอันดามัน แต่ที่จัดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็เห็นจะไม่มึจังหวัดใด ทำได้เท่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวนครศรีธรรมราช ให้ความสำคัญกับประเพณีสารทเดือนสิบมาช้านาน จนถือเป็นประเพณีสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เมื่อถึงเดือนสิบ ลูกหลานชาวนครทุกคน ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน ห่างไกลแค่ใด จะต้องกลับมาร่วมทำบุญกับญาติพี่น้องที่เมืองนครฯ

ความเป็นมาของประเพณีสารทเดือนสิบ

ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชรับมาจากประเพณี “เปตพลี” ของอินเดีย เพราะนครศรีธรรมราชได้ติดต่อกับอินเดียมาเป็นเวลานาน ก่อนดินแดนอื่น ๆ ในประเทศไทย ดังนั้นวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ของอินเดีย ส่วนใหญ่จึงได้ถ่ายทอดมายังเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก

การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวนครถือปฏิบัติมาช้านาน โดยถือเป็นคติว่า พวกเปรต ซึ่งหมายถึง บรรพบุรุษพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและตกทุกข์ได้ยากในเมืองนรก จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเยี่ยมลูกหลานในเมืองมนุษย์ในช่วงเดือนสิบนี้ บรรดาลูกหลานจึงได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้พร้อม ๆ กัน อนึ่งในปลายเดือนสิบของทุกปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล ชาวเมืองซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรต่างก็ชื่นชมยินดีในผลผลิตของตน ดังนั้น จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เพื่อเป็นศิริมงคล แก่ตนเองและเรือกสวนไร่นา

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ เมื่อเริ่มฤดูฝน พระภิกษุก็ยากลำบากในการออกบิณฑบาต บรรดาชาวบ้านจึงนำพืชผลทั้งของสดของแห้ง นำไปถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นเสบียงในฤดูฝน โดยจัดเป็นสำรับหรือเรียกว่า “หมรับ”นอกจากทำบุญดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็จะมีงานรื่นเริงที่จัดขึ้น เพราะความภาคภูมิใจ สุขใจ อิ่มเอิบใจ ที่ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและการทำบุญเนื่องในโอกาสที่ได้รับผลผิตจากการเกษตร และชื่นชมในผลผลิตที่ได้รับ จึงร่วมกันจัดงานรื่นเริงยินดีหรรษา สนุกสนานประจำปีร่วมกัน

พิธีกรรม

ประเพณีสารทเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้ถูกปล่อยขึ้นมาจากนรก สำหรับวันนี้ลูกหลานบางคนจะประกอบพิธีต้อนรับ โดยการยกปิ่นโตและอาหารหวานคาวไปทำบุญที่วัด เรียกว่า “วันยกหมรับเล็ก” ส่วนบางคนก็จะยกไปประกอบพิธีในวันแรม 13–14–15 ค่ำทีเดียว

การเตรียมการสำหรับวันประเพณีสารทเดือนสิบ จะเริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเรียกว่า “วันจ่าย” ซึ่งในวันนี้ ประชาชนจะมาจับจ่ายซื้อขนมและสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในการจัดหมรับ โดยจะมีพ่อค้านำสิ่งของทั้งของสดและแห้ง ของเล่นมากมาย มาขายกัน มีผู้คนจากหลายแห่งมาซื้อของเหล่านั้น

การจัดหมรับ

ในสมัยโบราณการจัดหมรับ จะใช้กระบุงที่สานด้วยไม่ไผ่ เป็นภาชนะสำหรับบรรจุ แต่การจัดหมรับในปัจจุบันนี้ พวกกระบุงต่าง ๆ ที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติหายากขึ้น จึงนิยมใส่กะละมัง ถังถาด ฯลฯ ส่วนสิ่งของที่ใช้ในการจัดหมรับ ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ พวกพืชผัก เช่น มะพร้าว กล้วย อ้อย มัน ฟักเขียว ฟักทอง ข้าวโพด ฯลฯ นอกจากพวกอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กะปิ เกลือ น้ำปลา ฯลฯ และพวกขนมแห้งต่าง ๆ ที่เก็บไว้ได้นานๆ

เมื่อได้สิ่งของตามความต้องการแล้ว ก็จัดบรรจุใส่ในภาชนะ โดยนิยมใส่ข้าวสารรองก้นกระบุงและตามด้วยพวกเครื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ภายในครัวเรือน พวกหอม กระเทียม พริก เกลือ และอื่น ๆ ที่จำเป็น ชั้นต่อมาก็จัดพวกอาหารแห้ง ปลาเค็ม เนื้อเค็ม มะพร้าว ข้าวโพด พืชผัดต่าง ๆ ที่มีในฤดูกาล และเก็บไว้ได้นาน ๆ นอกจากนี้ ยังบรรจุของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย เช่น น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เข็ม ด้าย ธูป เทียน เครื่องเชี่ยน เช่น หมาก พลู ยาเส้น และยาสามัญประจำบ้าน

ถัดขึ้นมาชั้นบนสุด ซึ่งจะบรรจุสิ่งของที่เป็นหัวใจของหมรับ คือ ขนมห้าอย่าง อันเป็นเอกลักษณ์ที่จะขาดไม่ได้ คือ
1. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษ ใช้ข้ามห้วงมหรรณพ
2. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
3. ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้าที่ใช้สำหรับเล่นในวันสงกรานต์
4. ขนมดีซำ หรือ เมซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงิน เบี้ย สำหรับจับจ่ายใช้สอย
5. ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

แต่ผู้แก่ผู้เฒ่าบางคนท่านบอกว่า ขนมหัวใจของหมรับ 6 อย่าง คือ เพิ่มขนม ลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์แทน ฟูก หมอนอีกอย่างหนึ่งด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขนมต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดหมรับนั้น จะเก็บไว้ได้นาน โดยไม่บูกง่าย เพื่อจะได้เป็นเสบียงของประสงฆ์ได้ตลอดฤดูฝน

ในสมัยโบราณ เมื่อบรรจุสิ่งของต่าง ๆ และขนมลงในหมรับเรียบร้อยแล้ว ก็จะวางกระทงใบตอง ซึ่งเย็บเป็นลักษณะกลม ๆ ใส่ข้าวสุก แล้วเจียนใบตองให้กลม ปิดไว้บนกระทงใบตอง ก็จะมีกระทงเล็ก ๆ ใส่กับข้าวหวานคาว ที่พระภิกษุฉันได้ทันที เมื่อพระรับประเคนแล้ว จากนั้นก้เย็บกระทงเป็นกรวยแหลมคล้ายฝาชี ครอบไว้แล้วปักธูปเทียน และธงผ้าสี หรือธงกระดาษสีสวยงาม เรียกส่วนนี้ว่า “ยอดหมรับ” แต่ในปัจจุบันนี้ยอดหมรับ ได้เปลี่ยนเป็นธนบัตรไปติดแทน

เมื่อติดยอดหมรับเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำมาตกแต่งให้สวยงาม โดยสิ่งของหรือเครื่องเล่นพื้นเมือง เช่น ตุ๊กตา รูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย นก ไก่ ซึ่งประดิษฐ์จากไส้หญ้าปล้อง ไม้ระกำ กระดาษสี สวยงาม ซึ่งการนำเครื่องเล่นเหล่านี้ มาประดับตกแต่งหมรับนั้น ผู้จัดต้องพิจารณาว่าบรรพบุรุษของตนชอบอะไรเป็นพิเศษด้วย เช่น ปลากัด ไก่ชน วัวชน หนัง ละคร ฯลฯ ก็จะทำสิ่งนั้นติดหมรับข้อสังเกต สำหรับการจัดหมรับนั้น อาจจะจัดเฉพาะครอบคัว หรือจัดรวมกันเป็นกลุ่ม ในหมู่ญาติมิตรหรือจัดเป็นคณะใหญ่ ๆ ก็ได้แล้วแต่สะดวก

การยกหมรับ

เมื่อจัดตกแต่งหมรับเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำหมรับไปถวายพระที่วัด ซึ่งจะกระทำกันในวันแรม 14 ค่ำ หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วัน “ ยกหมรับ” โดยจะเลือกวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม วัดที่ใกล้บ้าน หรือ วัดที่เผาบรรพบุรุษของตนนิยม การแห่หมรับไปวัด จะจัดเป็นขบวน เล็ก ใหญ่ ตามจำนวนของผู้ร่วมจัดหมรับ บางขบวนจะจัดแข่งขันกันอย่างสวยงาม

การทำบุญในวันยกหมรับนี้ นอกจากหมรับแล้ว มีการนำอาหาร คาวหวานไปถวายพระด้วย อนึ่ง เสบียงอาหารในหมรับนั้น พระท่านจะได้ไปโดยการหยิบฉลาก ท่านจะไม่รับประเคน ดังนั้น เมื่อหยิบฉลากได้แล้ว ลูกศิษย์วัด หรือมัคทายก จะต้องเก็บไว้เอง แล้วค่อยนำมาประกอบอาหารเป็นมื้อๆ ถวายพระ จึงไม่นับว่าพระท่านสะสมอาหาร

การตั้งเปรต

เมื่อยกหมรับและถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็จะมีการ “ตั้งเปรต” ซึ่งแต่เดิมกระทำโดยการนำอาหารหวานคาว ใส่กระทงนำไปวางไว้ริมกำแพงวัด โคนต้นไม้ใหญ่ หรือตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยถือคติที่ว่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ไม่มีญาติมิตร หรือที่พวกลูกหลานไม่ได้มาร่วมทำบุญในวันนั้น บางแห่งมีการ “หลาเปรต” โดยยกเป็นร้านสูง ๆ แล้วนำอาหารไปวางไว้บนร้านนั้น เมื่อพระสวดบุงสุกุลก็จะนำมาพันหลาเปรตเอาไว้ เมื่อสวดเสร็จ บรรดาลูกหลานก็จะเข้าแย่งอาหารที่ตั้งเปรตเหล่านั้น เรียกว่า “ ชิงเปรต” ซึ่งถือว่าถ้าใครได้กินขนมที่ชิงเปรตมาก็จะได้กุศลแรง บรรพบุรุษอวยชัยให้เป็นศิริมงคลแก่ตนเอง

การฉลองหมรับ และบังสุกุล

การฉลองหมรับ และบังสุกุล กระทำในวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็นวันสารท ในวันนี้จะมีการทำบุญซึ่งเรียกว่า วัน “ หลองหมรับ” ตามคติโบราณถือว่า เป็นวันที่บรรพบุรุษที่ถูกปล่อยตัวมาตอนวันแรม 1 ค่ำ ได้เวลาที่จะกลับเมืองนรกดังเดิม บรรดาลูกหลานก็จะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พร้อมกัน เป็นการส่ง หากลูกหลานคนใดไม่มาทำบุญในวันนี้ถือว่า อกตัญญู และญาติพี่น้องที่ล่วงลับ จะได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส

ความหมายของ คำศัพท์ในวันสารท

ตายาย

บรรพบุรุษที่ลาวงลับไปแล้วคนนครศรีธรรมราช เรียกพ่อของแม่ว่า “ พ่อเฒ่า” และเรียกแม่ของแม่ว่า “แม่เฒ่า” ไม่ได้เรียกตา หรือยาย อย่างภาษากลาง แต่ใช้คำว่า “ตา” เรียกผู้ชายชราคราวพ่อแม่โดยทั่วไป และใช้คำว่า “ยาย” เรียกผู้หญิงชราคราวแม่เฒ่าโดยทั่วไปและเมื่อเอ่ยถึง “ตายาย “ จะหมายถึง บรรพบุรุษ หรือเทือกเถาเลากอที่สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลต่อกันมา ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่สำหรับ “ตายาย” ที่เกี่ยวกับการทำบุญเดือนสิบ จะหมายถึง เฉพาะบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น โดยมีความเชื่อว่า ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ ถึง วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเป็นการชั่วคราว ในโอกาสนี้ลูกหลานจึงถือโอกาสทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้

วันรับตายาย

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือเป็นวันแรกที่บรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้ว ได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมลูกหลาน ลูกหลานก็จะทำบุญที่วัดเป็นการต้อนรับ บางท้องที่เรียกว่า “วันหมรับเล็ก”

วันส่งตายาย

วันแรก 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันสุดท้ายที่บรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมเยียนลูกหลาน จะต้องกลับไปอยู่ในอบายภูมิตามเดิม ลูกหลานจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครั้งใหญ่ บางท้องที่เรียกว่า “ วันหมรับใหญ่”

บังสุกุล

บังสุกุลภาษาใต้จะออกเสียงกร่อนพยางค์เป็น “บังกุล” หรือ บางทีเรียกว่า “บังสกุล” ในประเพณีทำบุญของชาวนครศรีธรรมราช นอกจะจัดอาหารและยกหมรับไปถวายพระแล้ว ญาติมิตรจะนำอัฐิของผู้ล่วงลับไปแล้ว ไปทำพิธีให้พระสงฆ์สวดบังสุกุล เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปยังเจ้าของอัฐิที่ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยพิธีบังสุกุลนี้จะกระทำหลังจากที่พระสงฆ์สวดมนต์และฉันภัตตาหารเพลเรียบร้อยแล้ว

เปรต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายความหมายว่า “ สัตว์พวกหนึ่งในอบายภูมิ แดนทุกข์ ผีเลวจำพวกหนึ่งมีหลายชนิด ชนิดหนึ่งตามที่ว่ากันว่า มีรูปร่างสูงโย่งเท่าต้นตาล ผมยาวหยอกหยอย คอยาว ผอมโซ มีปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบตาล กินแต่เลือดและหนองเป็นอาหาร มักร้องเสียงดังวีด ๆ ในตอนกลางคืน,เปต ก็ว่า”

หนังสือไตรภูมิพระร่วง ของพญาลิไท ได้กล่าวถึงรูปร่างลักษณะของเปรตไว้ว่า “ เปรตลางจำพวกตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มก็มี เปรตลางจำพวกผอมนักหนา เพื่ออาหารจะกินบ่มี แม้นว่าจะได้ขอดเอาเนื้อน้อยหนึ่งก็ดี เลือดหยดหนึ่งก็ดี บ่มิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลัง แลตานั้นลึกแลกลวงดังแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายนั้นหาบ่มิได้เลย เทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขา และเขาร้องให้ครางอยู่ทุกเมื่อแล

ตั้งเปรต

ตั้งเครื่องเปตพลีในวันสารทเป็นกิจกรรมการทำบุญเดือนสิบอีกส่วนหนึ่งในวันแรม 15 ค่ำ กล่าวคือ นอกจากนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะนำอาหาร ขนมเดือนสิบ และสิ่งของต่าง ๆ ไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ หรือริมกำแพงวัด หรือทางเข้าประตูวัด หรือ บนร้านที่จัดไว้ แล้วนำสายสิญจน์มาผูกไว้ให้พระสงฆ์สวดบุงสุกุล เรียกว่า การตั้งเปรตการตั้งเปรตนั้นเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่อแผ่ส่วนกุศลอุทิศให้ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติที่ไม่ได้มาทำบุญให้ ด้วยความเวทนาสงสารดังเพลงร้องเรือบทหนึ่งว่า

“สาวน้อยใจบุญเหอ ไปทำบุญวันสารทยกหมรับดับถาด ไปวัดไปวาพองลาขนมแห้ง จัดแจงเข้าต้าอี้หมาไปวัดไปวา สาเสดเวทนาเปรต เหอ”

ชิงเปรต

แย่งอาหาร ขนมหรือสิ่งต่าง ๆ ในประเพณีวันสารทเป็นกิจกรรมเมื่อเสร็จพิธีบังสุกุล ชาวบ้านทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่และเด็ก ๆ จะเฮโลไปแย่งชิงอาหารและขนมที่ตั้งเปรตมากินด้วยความสนุกสนานโดยความเชื่อว่า การกินอาหารและขนมที่ตั้งเปรตจะได้กุศลแรง เรียกว่า การชิงเปรตบางแห่งสร้างหลาเปรตให้สูง โดยใช้เสาไม้ไผ่หรือไม้หลาวชะโอน หรือไม้หมากเพียงเสาเดียว แทนเสาสี่เสาตามปกติ ขูดผิวจนลื่นแล้วทางน้ำมัน ให้คนแย่งกันปีนขึ้นไปชิงเปรต ซึ่งจะป่านปีนลำบากเพราะลื่น กว่าจะได้ต้องใช้เวลาและสนุกสนานมาก เป็นการชิงเปรตที่สนุกสนานไปอีกแบบหนึ่ง

หลาเปรต

เป็นศาลาหรือร้าน ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนนำอาหารขนมเดือนสิบหรือสิ่งของต่าง ๆ ไปวางเพื่อตั้งเปรต เรียกว่า “ หลาเปรต”

หนมเดือนสิบ

ขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช ใช้จัดเป็นสำรับ(หมรับ) มี 5 อย่าง คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ(เมซำ) ขนมกง (ขนมไข่ปลา) แต่บางที่มี 6 อย่าง โดยเพิ่ม ขนมลาลอยมัน อีกอย่างหนึ่งด้วย

พอง

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่งอัดเป็นแผ่นรูปต่าง ๆ ตากแห้ง แล้วทอดให้พองในน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมพองทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์ให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ใช้แทนแพล่องไปข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติของพระพุทธศาสนา

ลา

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวจ้าว ผสมน้ำตาลโรยทอดเป็นแผ่นบาง ๆ ในกะทะที่ทาน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมลา เวลาทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมลา ใช้แทนเสื้อผ้าแพรพรรณเครื่องนุ่งห่มที่ส่งไปถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

บ้า

ขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลเคี่ยว ปั้นเป็นลูกกลมๆแบนๆ ทอดในน้ำมันร้อน ๆจนสุกคนนครฯ ใช้ขนมบ้าทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมบ้า ใช้แทนลูกสะบ้า ส่งไปให้ถึงบรรพชนใช้ละเล่นในวันช่วงสงกรานต์

ดีซำ

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวจ้าว ผสมน้ำตาลเคี่ยว ปั้นเป็นรูปกลม ๆ แบนๆ เจาะรูตรงกลางแล้วทอดในน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมดีซำทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมดีซำ จะเป็นเงินเบี้ยให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้ใช้สอย

ไข่ปลา

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยถั่วเขียวผสมด้วยน้ำตาลเคี่ยว ชุบแป้งข้าวเหนียว ทอดในน้ำมันร้อน ๆ จนสุก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขนมกงคนนครฯ ใช้ขนมไข่ปลาทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อที่ว่า ขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับสำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ลาลอยมัน

ขนมเดือนสิบอีกอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวจ้าวผสมน้ำตาลแบบเดียวกับขนมลา แต่โรยทอดในน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมลาลอยมันทำบุญเดือนสิบด้วยความเชื่อที่ว่า ขนมลาลอยมันนี้จะเป็นสัญลักษณ์แทนฟูก หมอน ส่งถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

“ทำบุญใหญ่เหอ ไปทำบุญวันสารทยกหมรับดับถาด ไปวัดไปวา"

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551

ตำนานรักสะพานสารสิน















สะพานสารสิน เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่าง ท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต กับท่านุ่น จังหวัดพังงา มีความยาวทั้งหมด 660 เมตร กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,770,000 บาท เริ่มเปิดใช้เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 สะพานนี้ใด้ถูกตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานขนานขึ้นอีกหนึ่งสะพาน ชื่อสะพานเทพกษัตรีย์ โดยสะพานเทพกษัตรีย์ใช้สำหรับเป็นสะพานขาเข้าจังหวัดภูเก็ต ส่วนสะพานสารสินใช้เป็นสะพานขาออกจากจังหวัดภูเก็ต

ตำนานรักสะพานสารสิน เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต เป็นโศกนาฏกรรมของหนุ่มสาว 2 คนที่ตัดสินปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย โดยใช้ผ้าขาวม้าผูกมัดกันไว้แล้วกระโดดจากกลางสะพานสารสินลงสู่ทะเล ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516
เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มหญิงสาวที่แตกต่างกัน ด้วยชาติตระกูลและฐานะทางสังคม
โดยฝ่ายหญิงชื่อ "อิ๋ว" เป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูภูเก็ต ส่วนฝ่ายชายชื่อ "โกไข่" มีฐานะยากจน เป็นเพียงคนขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง พ่อของอิ๋วเลี้ยงลูกสาวอย่างเข้มงวด ไม่ให้อิสระในการคบหากับใคร แต่ต้องการให้แต่งงานกับคนมีฐานะดี ความรักของคนทั้งสอง จึงถูกขัดขวางอย่างมากจากพ่อของอิ๋ว แต่ทั้งคู่ก็พยายามต่อสู้ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้รักของเธอและเขาสมหวัง

ความรักที่เหมือนนิยายน้ำเน่าของหนุ่มขับรถสองแถวและรับจ้างกรีดยาง ที่มีฐานะยากจนมาก แต่กลับไปหลงรักกับหญิงสาวที่มีฐานะสูงส่งและมีพื้นฐานครอบครัวที่เผด็จการ ไม่ให้อิสระทางความคิดกับลูกสาว แม้ว่าลูกสาวโตจนมีอาชีพเป็นครูแล้วก็ยังถูกกีดขวางจากผู้เป็นพ่อ ที่พยายามจะคลุมถุงชนลูกสาวให้แต่งงานกับชายหนุ่มที่มีฐานะดี และพยายามขัดขวางทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกสาวได้คบกับโกไข่ หนุ่มขับรถสองแถว

หลังจากที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะพิสูจน์ให้ผู้เป็นพ่อได้เห็นถึงความตั้งใจและความรักที่ทั้ง 2 มีให้แก่กัน แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่เป็นผล เมื่อผู้เป็นพ่อของฝ่ายหญิงไม่ยอมเปิดใจรับ หลายครั้งที่อิ๋วฝ่ายหญิง ถูกผู้เป็นพ่อทุบตีเยี่ยงสัตว์เพราะแอบมาพบเจอกับโกไข่ หนุ่มขับรถสองแถว และผู้เป็นพ่อก็พยายามทุกวิถีทางที่จะยัดเยียดลูกสาวให้กับเศรษฐีมีเงิน

ชาวบ้านท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต ต่างก็ทราบดีถึงความรักที่มีอุปสรรคของหนุ่มสาวทั้งสอง หลายคนพยายามแนะนำให้โกไข่เลิกกับครูอิ๋ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทั้งคู่ และผู้ใหญ่หลายคนพยายามพูดคุยกับพ่อของครูอิ๋ว เพื่อที่จะให้ยอมรับโกไข่ เป็นลูกเขย แต่ไม่ได้รับการยินยอม ไม่ว่าจะทำด้วยวิถีทางใด

ในที่สุดเมื่อความรักถึงทางตัน 22 กุมภาพันธ์ 2516 โกไข่ นายหัวรถสองแถวและครูอิ๋ว สาวผู้สูงศักดิ์ ก็ได้ตัดสินใจเอาผ้าขาวม้าผูกมัดตัวทั้งสองติดกัน แล้วกระโดดจากกลางสะพานลงสู่พื้นน้ำ ทิ้งเรื่องราวความรักที่เป็นอมตะ ให้ผู้คนได้กล่าวขานถึงปัจจุบันนี้ ตำนานรักสะพานสารสิน เป็นบทเรียนแห่งความรักอีกบทหนึ่งที่ถูกจารึกไว้ในตำนานคู่เมืองภูเก็ต แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักกี่ยุคกี่สมัย ตำนานเหล่านี้ก็ต้องบันทึกไว้และเป็นบทเรียน ที่ทุกคนควรศึกษาและเข้าใจความหมายของคำว่า รักที่แท้จริง เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป

คำขวัญประจำ 6 จังหวัดอันดามัน

ระนอง
คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง

พังงา
แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร

ภูเก็ต
ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม

กระบี่
แหล่งถ่านหิน ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี

ตรัง
เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา

สตูล
สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีเมืองถลาง















ชีวประวัติของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีเมืองถลาง ได้มีการบันทึก และเล่าสืบต่อกันมาว่า ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อจัน เป็นธิดาของจอมร้าง เจ้าเมืองถลาง ส่วนท้าวศรีสุนทร เดิมชื่อมุก เป็นน้องสาวร่วมบิดามารดา ของท้าวเทพกระษัตรี คุณจัน ถือกำเนิดที่บ้านตะเคียน เมืองถลาง ประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในราวปี พ.ศ. 2278 ซึ่งอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มารดาชื่อหม่าเสี้ย เป็นเชื้อสายเจ้าไทรบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เป็นผู้ชาย 2ผู้หญิง 3 คือ คุณจัน คุณมุก คุณหมา (หญิง) คุณอาด และคุณเรือง คุณจันได้เข้าพิธีสมรสกับหม่อมศรีภักดี บุตรจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง เชื้อสายชาวนครศรีธรรมราช มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือคุณปรางและคุณเทียน

เมื่อสิ้นบุญพระยาพิมล คุณหญิงจันถูกพระยาธรรมไตรโลก เอาตัวไปไว้ที่ค่ายปากพระ ในเวลาเดียวกัน พม่าก็ยกกองทัพมาตีเมืองตะกั่วทุ่ง และค่ายปากพระได้ พระยาธรรมไตรโลกเสียชีวิตในที่รบ ส่วนท่านผู้หญิงจันกับบริวารหนีจากค่ายปากพระ มาตั้งมั่นสู้พม่าอยู่ที่เมืองถลาง เมื่อเมืองตะกั่วทุ่งแตกแล้ว พม่าก็ยกทัพเรือเลียบชายฝั่ง ลงไปทางใต้ มุ่งตีเมืองถลาง ตามที่ได้รับมอบหมายจากแม่ทัพใหญ่ คือ เกงหวุ่นเมงยี ฝ่ายเมืองถลางได้ข่าวว่าพม่า จะยกทัพมาตั้งแต่เดือนอ้าย ซึ่งเป็นเดือนที่พม่าเริ่มออกเดินทัพ จึงเตรียมตัวรับศึกป้องกันรักษาเมือง โดยจัดคนเข้าประจำรักษาค่าย และขอซื้อฝิ่นจากกัปตันฟรานซิส ไลท์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ที่มาค้าขายกับเมืองถลางเพื่อให้คนยามเฝ้าค่ายกิน แต่ถึงคราวเคราะห์ของชาวถลาง ในขณะที่มีข่าวพม่ายกทัพมา พระยาถลางเจ้าเมืองกำลังป่วยหนัก และถึงแก่กรรมลงในที่สุด ยังไม่ทันได้จัดงานศพตามประเพณี และยังไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองแทน ชาวบ้านชาวเมืองพากันเสียขวัญ ละทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าป่า ครั้นเห็นคุณหญิงจันกลับมา ชาวบ้านก็มีขวัญกำลังใจดีขึ้น คุณหญิงจันสามารถรวบรวมผู้คน รวมทั้งอาวุธ ปืนใหญ่น้อยเข้าประจำค่าย เตรียมรับทัพพม่าอย่างเต็มความสามารถ คุณหญิงจันได้ประชุมนายทัพนายกอง เห็นพร้อมกันว่าทัพเรือของพม่า จะต้องยกมาจอดยกพลขึ้นบกที่ท่าตะเภา ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ และใกล้เมืองถลางมากที่สุด แต่ได้สืบข่าวมาว่าข้าศึกมิได้ยกมาทางนั้น จึงได้แบ่งออกไปตั้งทัพอยู่ที่ หลังวัดพระนางสร้าง ป้องกันข้าศึกตีโอบ ยึดเอาวัดเป็นที่ตั้งฐานทัพ ได้มอบให้นายอาจ น้องชายคุณหญิงจันเป็นแม่กอง และได้ตั้งค่ายใหญ่ที่นบนางดัก โดยมอบให้นายทองพูน เป็นแม่กอง ส่วนคุณจัน เป็นผู้บังคับบัญชาการรบทั่วไป คุณมุกเป็นผู้ช่วยตรวจตราทั้งสองค่าย ศึกทางไหนหนักจะได้ช่วยทางนั้น กองทัพไทยมีพลน้อย ไม่สามารถจะออกโจมตีข้าศึกโดยซึ่งหน้า คุณหญิงจัน คุณหญิงมุก จึงสั่งให้ผู้บังคับบัญชาทุก ๆ ค่ายให้ระวังกวดขัน แล้วคัดเลือกผู้หญิงกลางคน ประมาณ 500 คน มาแต่งตัวอย่างผู้ชายเอาทางมะพร้าว มาตกแต่งถือแทนอาวุธ เพื่อลวงข้าศึก จัดขบวนทำทีจะยกเข้าตีทัพพม่า ลวงให้พม่าเห็นว่าทัพไทยมีกำลังเสริม ทำให้พม่าไม่กล้าโจมตี เป็นการหน่วงเหนี่ยวไว้ ทำให้ขาดเสบียงอาหาร และจัดกำลังออกรังควาญพม่า ที่ออกลาดตระเวน และหาเสบียงอาหาร บาดเจ็บล้มตายเป็นประจำทุกวัน พม่าล้อมเมืองถลางอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน บาดเจ็บล้มตายไปประมาณ 300 - 400 คน ประกอบกับความเหนื่อยหน่าย ที่ได้ทำการรบมาเป็นเวลานาน ประมาณ 4 เดือน นับแต่ยกกองทัพออกมาจากเมืองมะริด เมื่อหมดความสามารถ ที่จะตีเอาเมืองถลางให้แตกได้ จึงเลิกทัพกลับไป เมื่อวันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2328

ครั้นพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าให้มีตราไปยังเมืองถลาง ตั้งผู้มีความดีความชอบในสงคราม เป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งคุณหญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี โปรดตั้งคุณหญิงมุกน้องสาว เป็นท้าวศรีสุนทร อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณความดี ของท้าวเทพกระษัตรี ผู้เป็นแม่แห่งแผ่นดินเมืองถลาง จึงได้ช่วยสร้างอนุสาวรีย์ไว้ ที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันถลางชนะศึก ถือเป็นวันเชิดชูเกียรติ ของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร นำพวงมาลาสดุดีวีกรรม ของสองวีรสตรีศรีถลางสืบมา

ประวัติพระยารัษฎานุประดิษฐ์














พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้) เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อวันพุธ เดือน 5 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ พระยารัตนเศรษฐี (คอซูเจียง) จีนฮกเกี้ยน ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เลื่อนฐานะจากพ่อค้าเป็นขุนนาง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ มีมารดาเป็นชาวนา ชื่อกิ้ม มีพี่ชายต่างมารดา 5 คนดังนี้

1. คอซิมเจ่ง (หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง)
2. คอซิมก๊อง (พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร)
3. คอซิมจั๋ว (หลวงศักดิ์ศรีสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง)
4. คอซิมขิม (พระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ช่วยราชการเมืองกระบุรี)
5. คอซิมเต๊ก (พระยาจรูญราชโภคากรณ์ ผู้ช่วยราชการเมืองหลังสวน)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เริ่มรับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2425 โดยพี่ชายคือ พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองขณะนั้นเป็นผู้นำตัว ไปถวายเป็นมหาดเล็ก และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ หลวงบริรักษ์โลหะวิไสย ผู้ช่วยเมืองระนอง แล้วเลื่อนเป็นที่ พระวัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี

เมื่อพ.ศ. 2428 ได้แสดง ความสามารถ สร้างบ้านบำรุงเมืองให้เป็นที่ปรากฎ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เจ้าเมืองตรังในปี พ.ศ. 2433 และในปี พ.ศ. 2455 โปรดเกล้าให้เป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มีบทบาทที่สำคัญหลายประการดังนี้

1. ด้านการปกครอง กุศโลบายหลักในการปกครองของท่านคือ หลักพ่อปกครองลูก ทำนองเดียวกับที่ใช้ในยุคสุโขทัย นอกจากจะยึดหลักพ่อปกครองลูกแล้ว ยังยึดหลักในการแบ่งงาน และความรับผิดชอบแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังจะเห็นได้จาก การริเริ่มจัดตั้งที่ว่าการกำนันขึ้นเป็นแห่งแรก ที่มณฑลภูเก็ต และได้จัดระเบียบการประชุมผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอให้เป็นที่แน่นอน

2. ด้านการส่งเสริมอาชีพราษฎร อาจจะเป็นเพราะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เกิดในตระกูลพ่อค้า ท่านจึงมีโลกทรรศน์ ต่างจากขุนนางอื่น ๆ คือ มีอุปนิสัยบำรุงการค้า เมื่อเป็นเจ้าเมืองตรังได้ย้ายจากตำบลควนธานีไปอยู่ตำบลกันตังด้วยเหตุผลที่ว่า มีทำเลการค้าที่ดีกว่า เรือกลไฟ เรือสินค้าใหญ่ สามารถเข้าถึงได้สะดวก เหล่านี้เป็นต้น

3. ด้านการคมนาคม พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ให้ความสำคัญเป็นที่สุด โดยเฉพาะการสร้างถนน

4. ด้านการรักษาความสงบและปราบปรามโจรผู้ร้าย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้สร้างความคิดใหม่ขึ้นในหมู่ราษฎร กล่าวคือ ราษฎรทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่โดยเพื่อนบ้าน และเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามโจรผู้ร้ายจะทอดธุระให้แก่เจ้าพนักงาน บ้านเมืองฝ่ายเดียวไม่ได้

5. ด้านการศึกษา แม้พระยารัษฎานุประดิษฐ์จะเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ท่านก็ประจักษ์ในคุณประโยชน์ของการศึกษา ได้พยายามสนับสนุนในทุกทาง เริ่มแรกให้ใช้วัดเป็นโรงเรียน จัดหาครูไปสอน บางครั้งก็นิมนต์พระสงฆ์ไปสอน นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกบุตรหลานข้าราชการ ผู้ดีมีสกุลในจังหวัดต่าง ๆ ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ปีนัง เป็นต้น

6. ด้านการสาธารณสุข นอกจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จะรณรงค์เรื่องความสะอาด บังคับให้ราษฎรดูแลบ้านเรือน ให้สะอาดเรียบร้อย

ผลงานของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ นับได้ว่าเป็นเลิศกว่านักปกครองคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน ท่านได้รับการยกย่อง แม้ในหมู่ชาวต่างประเทศและตลอดแหลมมลายูยุคนั้นว่า เป็นผู้มีความสามารถสูง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นทั้งนักปกครอง และนักพัฒนาในเวลาเดียวกัน

เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูต่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ราษฎรและข้าราชการ จังหวัดตรังจึงได้สละทรัพย์สมทบ สร้างอนุสาวรีย์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีขึ้นที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ในวันที่ 10 เมษายน ของทุก ๆ ปีซึ่งเรียกกันว่า "วันพระยารัษฎานุประดิษฐ์" จะมีการวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์

หมู่เกาะพีพี สวรรค์สำหรับคนรักทะเลที่กระบี่














หมู่เกาะพีพี เป็นหมู่เกาะกลางทะเล อยู่ห่างจากอำเภอเมืองกระบี่ประมาณ 42 กิโลเมตร เดิมชาวทะเลเรียกหมู่เกาะนี้ว่า “ปูเลาปิอาปิ” คำว่า “ปูเลา” แปลว่าเกาะ คำว่า “ปิอาปิ” แปลว่าต้นไม้ทะเลชนิดหนึ่งจำพวกแสม และโกงกาง ต่อมาเรียกว่า “ต้นปีปี” ซึ่งภายหลังกลายเสียงเป็น “พีพี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งบุปผาใต้สมุทร นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหมู่เกาะนี้ส่วนใหญ่มาเพื่อดำน้ำดูปะการังดอกไม้ทะเล และปลาหลากสีสันที่สวยงาม นอกจากนั้นยังมีเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางเดินเรือ กระบี่-ภูเก็ต-หมู่เกาะพีพี ประกอบด้วยเกาะ 6 เกาะ คือ เกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน เกาะยูง เกาะไม้ไผ่ เกาะบิดะนอก และเกาะบิดะใน ซึ่งแต่ละเกาะมีหาดทรายสวย น้ำทะเลใส

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของหมู่เกาะพีพี

เกาะพีพีดอน มีพื้นที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร จุดเด่นของเกาะคือเวิ้งอ่าวคู่ที่มีความสวยงามติดอันดับโลกของอ่าวต้นไทรและอ่าวโละดาลัม อ่าวต้นไทรเป็นที่ตั้งของท่าเรือเกาะพีพี และมีสถานที่พักและร้านค้าจำนวนมาก จากอ่าวต้นไทรสามารถเดินขึ้นเขาไปยังจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเวิ้งอ่าวคู่ได้ เกาะพีพีดอนยังมีหาดทรายและอ่าวที่สวยงามกระจายอยู่รอบเกาะ บางแห่งมีที่พักบริการ เช่น หาดแหลมหิน หาดยาว อ่าวโละบาเทา ทางเหนือของเกาะคือ แหลมตง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวเลประมาณ 15-20 ครอบครัว ส่วนใหญ่อพยพมาจากเกาะลิเป๊ะ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่จังหวัดสตูล บริเวณแหลมตงมีธรรมชาติใต้ทะเลที่สวยงามและบนหาดมีที่พักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือเที่ยวหรือดำน้ำดูปะการังรอบเกาะพีพีดอนและเกาะพีพีเลได้ ราคาประมาณ 1,500 บาทต่อลำต่อวัน

เกาะพีพีเล มีพื้นที่เพียง 6.6 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่เต็มไปด้วยภูเขาหินปูน มีหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับผิวทะเลโดยรอบเกือบทั้งเกาะ มีพื้นน้ำลึกเฉลี่ยประมาณ 20 เมตร มีบริเวณน้ำลึกที่สุดประมาณ 34 เมตรอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ เกาะแห่งนี้มีเวิ้งอ่าวสวยงาม อาทิ อ่าวปิเละ อ่าวมาหยา อ่าวโละซามะ นอกจากนี้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือยังมีถ้ำไวกิ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสถ้ำแห่งนี้ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “ถ้ำพญานาค” ตามรูปร่างหินก้อนหนึ่งที่คล้ายเศียรพญานาค อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านที่มาเก็บรังนกนางแอ่นบนเกาะแห่งนี้ ภายในถ้ำทางทิศตะวันออกและทิศใต้พบภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์ เป็นรูปช้างและรูปเรือชนิดต่างๆ เช่น เรือใบยุโรป เรือใบอาหรับ เรือสำเภา เรือกำปั่น เรือใบใช้กังหัน และเรือกลไฟ เป็นต้น สันนิษฐานว่าภาพเขียนเหล่านี้เป็นฝีมือของนักเดินเรือหรือพวกโจรสลัด เพราะจากการศึกษาเส้นทางเดินเรือจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก บริเวณนี้อาจเป็นจุดที่เรือสามารถแวะพักหลบลมมรสุมขนถ่ายสินค้าหรือซ่อมแซมเรือได้

เกาะยูง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอน มีชายหาดเป็นหาดหินอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และมีหาดทรายเล็กน้อยตามหลืบเขา นอกจากนี้ยังมีแนวปะการังสวยงามชนิดต่าง ๆ

เกาะไม้ไผ่ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพีพีดอน ไม่ไกลจากเกาะยูงเท่าใดนัก ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกมีหาดทรายสวยงาม และแนวปะการังซึ่งส่วนมากเป็นแนวปะการังเขากวางทอดยาวไปถึงทางทิศใต้ของเกาะ บนเกาะมีสถานที่กางเต็นท์ สอบถามข้อมูลจากอุทยานฯ

การเดินทางไปหมู่เกาะพีพี นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังหมู่เกาะพีพีได้ทั้งจาก กระบี่ และภูเก็ต จากท่าเรือเจ้าฟ้าในตัวเมืองกระบี่ มีเรือโดยสารออกจากกระบี่ไปเกาะพีพีทุกวัน โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ สองชั่วโมงครึ่ง และมีเรือเร็วนำเที่ยวเช้าไปเย็นกลับ ออกจากอ่าวนาง ส่วนการเดินทางจากภูเก็ตมีเรือนำเที่ยวเกาะพีพีแบบเช้าไปเย็นกลับทุกวันเช่นกัน

ตำนานวัดพระทอง (วัดพระผุด)





























วัดพระทอง (วัดพระผุด) อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ต เลยที่ว่าการอำเภอถลาง ไปเล็กน้อยจะมีทางแยกขวามือเข้าวัดพระทอง วัดนี้มีพระพุทธรูปที่แตกต่างไปจากพระพูทธรูปทั่วไป โดยมีพระพุทธรูป ผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์

เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุง ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุด พระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใด ก็มีฝูงแตนไล่ต่อย จนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้าน ได้นำทองหุ้มพระพุทธรูป ที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน

ตำนานเล่าว่า มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง จูงควายไปเลืี้ยงกลางทุ่งนา ตามคำสั่งของพ่อแม่ ไปเจอหลักอยู่หลักหนึ่ง โดยหารู้ไม่ว่า เป็นหลักอะไร แต่ก็นำควายมา ผูกไว้กับหลักนั้น และไปวิ่งเล่นตามประสา ตกเย็นกลับถึงบ้าน เด็กก็ล้มเจ็บไข้และตาย ส่วนควายก็ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นพ่อของเด็กได้ฝันถึงสาเหตุที่ลูกชายและควายตาย เพราะลูกชายไปผูกเชือกล่ามควายไว้กับพระเกตุมาลา รุ่งขึ้นจึงไปดูตามในฝัน ก็ปรากฏว่าเป็นจริงตามที่ตนฝัน ข่าวนี้ทราบไปถึงเจ้าเมืองถลาง จึ่งสั่งให้ขุดพระพุทธรูปนี้ขี้นมา แต่เกิดความมหัศจรรย์ มีตัวต่อแตนออกมาอาละวาด ดังนั้นเจ้าเมืองจึงสั่งให้ทำหลังคา กันแดดและฝน เพื่อเป็นที่สักการะบูชา สำหรับคนทั่วไป ต่อมาประชาชนก็เรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระผุด"

พระครูวิตถารสมณวัตร์ (ฝรั่ง) ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 15 เมื่อท่านแก้ปริศนาได้ ท่านก็บูรณะปฎิสังขรณ์วัด ท่านได้ขุดดินหลัง พระผุดซึ่งเป็นดินทราย เกรงว่าจะทรุด จึงได้เอาเหล็กแหลมตอกเข้าไปใต้ฐานพระพุทธรูป ที่อยู่ในดิน สกัดเนื้อพระพุทธรูป ไปพิสูจน์ช่างทองรับว่าเป็นทองคำจริงอยู่ด้านใน คำกล่าวเล่าลือว่า พระผุดคือพระทองคำ ก็มีผู้ยอมรับมากขึ้น วัดพระทอง จึงเป็นชื่อวัดอีกชื่อหนึ่ง เหตุเพราะ พระพุทธรูปด้านในเป็นทองคำ

เทศกาลกินผัก จังหวัดภูเก็ต

เทศกาลกินเจ โดยชาวภูเก็ตเรียกว่า เทศกาลกินผัก หรือ "เจี๊ยะฉ่าย" จัดขึ้นในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ของจีน ซึ่งตรงกับเดือน 10 ของไทย เทศกาลกินผักเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน โดยได้รับมาจากกลุ่มคนจีนที่อพยพเข้ามาในภูเก็ตยุคแรก เทศกาลกินผักมีจุดหมายเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพด้วย

ผู้ร่วมเทศกาลจะสวมชุดขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้ง ผักที่มีกลิ่นฉุนบางชนิด โดยทั่วไป ก่อนวันเทศกาลกินผัก ผู้ร่วมเทศกาลกินผักจะทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบอาหารจนสะอาด หมดกลิ่นคาว แต่สำหรับบางคน อาจงดรับประทานอาหารที่บ้าน แต่ไปรับประทานอาหารจากโรงครัวของศาลเจ้า (อ้าม) โดยทุกศาลเจ้า (อ้าม) มักจะมีการประกอบอาหารแจกให้ฟรีสำหรับผู้ร่วมเทศกาลกินผัก

ผู้ร่วมเทศกาลกินผัก สามารถจะสมัครใจเลือกกินได้ตั้งแต่ 1 วัน, 3 วัน, 5 วัน, 7 วัน หรือทั้ง 9 วันก็ได้ โดยปกติจำนวนวันมักเป็นจำนวนคี่ เมื่อเริ่มเทศกาลกินผัก ผู้ร่วมเทศกาลกินผัก นิยมจะไปสักการะ เทพเจ้าที่ศาลเจ้า (อ้าม) เพื่อเป็นสิริมงคล

เทศกาลกินผักจะเริ่มต้นด้วยการยกเสาโกเต๊ง ซื่งเป็นเสาธงสูง ปลายเสาเป็นไม้ไผ่แขวนตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง อันหมายถึง ดวงวิญญาณของกิวอ๋องไตเต คำว่า กิวอ๋อง หมายถึง เทพเจ้า 9 องค์

ในช่วงเทศกาลกินผัก 9 วัน จะมีพิธีกรรมหลายพิธี ดังนี้

- พิธีบูชาเจ้า มีการบูชาด้วยเครื่องเซ่นทั้งที่ศาลเจ้า (อ๊าม) และที่บ้านของผู้กินผัก กระทำในวันแรกของเทศกาล

- พิธีโบกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงทหาร จะกระทำในวันขึ้น 3 ค่ำ, 6 ค่ำ และ 9 ค่ำ หลังเที่ยง มีการเตรียมอาหาร เหล้า สำหรับเซ่นสังเวยทหารและม้า

- พิธีซ้องเก็ง เป็นการสวดมนต์ จะสวดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ

- พิธีบูชาดาว จะกระทำในคืนวันขึ้น 7 ค่ำ มีการแจกกระดาษยันต์สีเหลือง (ฮู้) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้กินผัก

- พิธีแห่พระออกเที่ยว หรือ แห่พระ พระจะออกเดินไปตามท้องถนนเพื่อโปรดสัตว์มีเกี้ยว (เก่ว) หามพระบูชาต่างๆไปตามถนน ในขณะที่ขบวนผ่านชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชา และจุดประทัดต้อนรับขบวนที่แห่ผ่านมา

- พิธีลุยไฟ (โก๊ยโห่ย) เป็นการแสดงความอภินิหารของพระ (ม้าทรง) ที่สามารถบังคับไฟไม่ให้ร้อน และถือว่าไฟจะชำระความสกปรกของร่างกายได้

- พิธีสะเดาะเคราะห์ (โก๊ยห่าน) จะกระทำหลังพิธีลุยไฟ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเตรียมสิ่งของต่อไปนี้ คือ กระดาษตัดเป็นรูปตนเองเขียน ชื่อกำกับไว้, ผักกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น และเงิน ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องนำสิ่งของเหล่านี้ผ่านผู้เข้าทรง ซึ่งยืนอยู่สองข้างทางเดิน เอาสิ่งของมอบให้ผู้เข้าทรง แล้วผู้เข้าทรงจะประทับตราสีแดง ด้านหลังเสื้อที่สวม ซึ่งเรียกว่า ค้ำยีน

- พิธีส่งพระ กระทำในวันสุดท้ายของเทศกาลกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดา หรือ เง็กเซียน ฮ่องเต้ ซึ่งจะส่งกันที่หลังเสาธง ส่วนกลางคืนจะส่งพระกิวอ๋องฮุดโจ้วกลับไปสู่สวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อส่งพระออกนอกประตู ตะเกียงที่เสาโกเต๊งจะถูกดับลง และกำลังทหารและม้าจะถูกส่งกลับ เป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ: คำในวงเล็บ เป็นคำภาษาถิ่นที่ใช้เรียกกันในจังหวัดภูเก็ต

ตำนานหลวงพ่อแช่มแห่งวัดฉลอง















หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัด พังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) นามโยมบิดาและมารดา ไม่ปรากฎในประวัติ แม้แต่ "หลวงพ่อช่วง" วัดท่าฉลอง ศิษย์เอกของท่านก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้

หลวงพ่อแช่ม ชาตะ พ.ศ.2370 มรณภาพ พ.ศ.2451

พ่อแม่ส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่ออายุถึงที่ จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ ทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง

ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้น ไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิง ฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมากชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเอง และทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผา บ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั้งบัดนี้

ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลองเมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็น เครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโผกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลอง ก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียด จากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็น ชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายัง วัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่าย ให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น"

ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมาย บอกต่อต้านพวกอั้งยี่พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพง พระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุปโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลม พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธง ขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้าน แอบดูอยูในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่อ อาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไป ในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่ม โดยไม่มีเงื่อนไข

คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมฌศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานฌมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสุงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม

จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามหลวงพ่อแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ป่วยเป็นอัมพาต หลวงพ่อแช่มได้ทำ น้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงโดยเร็วสามารถลุกนั่งได้ อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับ กรุงเทพมหานคร ผ่านวัดๆหนึ่งในจังหวัดชุมพร หลวงพ่อแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดนั้น นิมนต์ ให้หลวงพ่อแช่มเข้าไปพักในวัด แต่ หลวงพ่อเกรงใจและแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้าน ในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของของหลวงพ่อแช่มและคณะไปหมด หลวงพ่อแช่ม ตอบว่าเมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้ เจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านอ้อนวอน หลวงพ่อแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม

เล่าว่า ตกตอนดึก คืนนั้น โจรป่ารวม 6 คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะคนอื่นๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่หลวงพ่อแช่มองค์เดียว พวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง หลวงพ่อแช่มก็ช่วยผลักของให้สิ่งของส่วนมากบรรจุปิ๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร หลวงพ่อแช่มก็ห้าม มิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้าน ก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุดเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของ กลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพทพวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีก หัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับมาคืนหลวงพ่อแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจรอาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจร ส่งกรมการเมืองชุมพร แต่หลวงพ่อแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป

ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้นต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย

การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อหลวงพ่อแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือ ศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อหลวงพ่อแช่ม เกิดเหตุอาเพทต่างๆในครัวเรือนต่างก็บนบานหลวงพ่อแช่มให้ช่วยขจัดปัดเป่าให้

ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์ต่างๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ ก็บนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้หลวงพ่อแช่มบรรดาลให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่มคลื่นลมก็สงบ มาถึงบ้านก็นำทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่ม เล่าให้หลวงพ่อแช่ม ทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน หลวงพ่อแช่มบอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้น ก็บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพทอีก จะแก้อย่างไรในที่สุดหลวงพ่อแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้าน ปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่นๆก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอหลวงพ่อแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดที่หน้าแขนของหลวงพ่อแทบทุกบ้านเรือนจนถือเป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุถาพ เสด็จมาจังหวัดภุเก็ตนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่ม นับเป็นพระภิกษุองค์แรก ของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

แม้แต่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งท่านถือประจำกายก็มีความขลัง ประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรแผลงๆ ครั้งหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเกิดปวดท้องจุดเสียดอย่างแรง กินยาอะไรก็ไม่ทุเลา จึงบนหลวงพ่อแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม อาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้น เมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเล่นสนุกๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีก พ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบนจึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาหลวงพ่อแช่มหลวงพ่อแช่มกล่าวว่าลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดหลวงพ่อแช่มคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับ สอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุดเสียดก็หายไป ไม้เท้านั่งทับของหลวงพ่อแช่มอันนี้ ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็กๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชงัดการลุกลามต่อไป เป็นที่น่าประหลาดมากครับเมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่ม ปรากฏว่าหลวงพ่อแช่มมีเงินเหลือเพียง 50 เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงิน เอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีข้าวสาร มีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา

งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ต หรืออาจจะกล่าวได้ว่า มโหฬารที่สุดในภาคใต้ บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

อันดามันไทย เปิดปฐมฤกษ์

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ อันดามันไทยคอมมูนิตี้เว็บบล็อก
สำหรับคนรัก อันดามัน และทะเลสวย

แหล่งรวมรวบ ประวัติศาสตร์ ประเพณี แหล่งท่องเที่ยว ข้อมูล ภาพถ่าย และประชาสัมพันธ์ สำหรับพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, และ สตูล ดินแดนแห่งหาดทรายขาว ท้องทะเลสวย

ขอเชิญเยียมชม และแสดงความคิดเห็นได้ตามอัธยาศัยครับ

ทีมงานเว็บมาสเตอร์