เกาะตะรุเตา อดีตเรือนจำนักโทษฉกรรณ์ ปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้ว ตะรุเตากลายเป็นอุทยานที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงาย ติดอันดับโลก ตั้งตระง่านอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย
ประวัติโดยย่อ
“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก เช่น อ่าวตะโละดาบ อ่าวตะโละอุดัง อ่าวหินงาม ฯลฯ ชื่อเหล่านี้มักจะตั้งตามสภาพที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ เช่น อ่าวหินงาม มีชายหินที่มีความสวยงามตลอดแนว อ่าวตะโละอุดังมีกุ้งทะเลมาก เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร แนวเขตด้านใต้ของอุทยานฯ ติดกับเส้นเขตแดนในทะเล ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยห่างเพียง 4.8 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวนถึง 51 เกาะ มีเนื้อที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทางทะเล 1,260 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เกาะ 230 ตารางกิโลเมตร จัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก เกาะกลาง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ เกาะตะรุเตา ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของ ความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะ และในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงาม ด้วยกลุ่มปะการังหลากสี สวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก
ประวัติศาสตร์ตะรุเตา
พ.ศ. 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง
ฤดูการท่องเที่ยว
ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น