วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551

เทศกาลกินผัก จังหวัดภูเก็ต

เทศกาลกินเจ โดยชาวภูเก็ตเรียกว่า เทศกาลกินผัก หรือ "เจี๊ยะฉ่าย" จัดขึ้นในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ของจีน ซึ่งตรงกับเดือน 10 ของไทย เทศกาลกินผักเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน โดยได้รับมาจากกลุ่มคนจีนที่อพยพเข้ามาในภูเก็ตยุคแรก เทศกาลกินผักมีจุดหมายเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพด้วย

ผู้ร่วมเทศกาลจะสวมชุดขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้ง ผักที่มีกลิ่นฉุนบางชนิด โดยทั่วไป ก่อนวันเทศกาลกินผัก ผู้ร่วมเทศกาลกินผักจะทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบอาหารจนสะอาด หมดกลิ่นคาว แต่สำหรับบางคน อาจงดรับประทานอาหารที่บ้าน แต่ไปรับประทานอาหารจากโรงครัวของศาลเจ้า (อ้าม) โดยทุกศาลเจ้า (อ้าม) มักจะมีการประกอบอาหารแจกให้ฟรีสำหรับผู้ร่วมเทศกาลกินผัก

ผู้ร่วมเทศกาลกินผัก สามารถจะสมัครใจเลือกกินได้ตั้งแต่ 1 วัน, 3 วัน, 5 วัน, 7 วัน หรือทั้ง 9 วันก็ได้ โดยปกติจำนวนวันมักเป็นจำนวนคี่ เมื่อเริ่มเทศกาลกินผัก ผู้ร่วมเทศกาลกินผัก นิยมจะไปสักการะ เทพเจ้าที่ศาลเจ้า (อ้าม) เพื่อเป็นสิริมงคล

เทศกาลกินผักจะเริ่มต้นด้วยการยกเสาโกเต๊ง ซื่งเป็นเสาธงสูง ปลายเสาเป็นไม้ไผ่แขวนตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง อันหมายถึง ดวงวิญญาณของกิวอ๋องไตเต คำว่า กิวอ๋อง หมายถึง เทพเจ้า 9 องค์

ในช่วงเทศกาลกินผัก 9 วัน จะมีพิธีกรรมหลายพิธี ดังนี้

- พิธีบูชาเจ้า มีการบูชาด้วยเครื่องเซ่นทั้งที่ศาลเจ้า (อ๊าม) และที่บ้านของผู้กินผัก กระทำในวันแรกของเทศกาล

- พิธีโบกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงทหาร จะกระทำในวันขึ้น 3 ค่ำ, 6 ค่ำ และ 9 ค่ำ หลังเที่ยง มีการเตรียมอาหาร เหล้า สำหรับเซ่นสังเวยทหารและม้า

- พิธีซ้องเก็ง เป็นการสวดมนต์ จะสวดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ

- พิธีบูชาดาว จะกระทำในคืนวันขึ้น 7 ค่ำ มีการแจกกระดาษยันต์สีเหลือง (ฮู้) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้กินผัก

- พิธีแห่พระออกเที่ยว หรือ แห่พระ พระจะออกเดินไปตามท้องถนนเพื่อโปรดสัตว์มีเกี้ยว (เก่ว) หามพระบูชาต่างๆไปตามถนน ในขณะที่ขบวนผ่านชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชา และจุดประทัดต้อนรับขบวนที่แห่ผ่านมา

- พิธีลุยไฟ (โก๊ยโห่ย) เป็นการแสดงความอภินิหารของพระ (ม้าทรง) ที่สามารถบังคับไฟไม่ให้ร้อน และถือว่าไฟจะชำระความสกปรกของร่างกายได้

- พิธีสะเดาะเคราะห์ (โก๊ยห่าน) จะกระทำหลังพิธีลุยไฟ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเตรียมสิ่งของต่อไปนี้ คือ กระดาษตัดเป็นรูปตนเองเขียน ชื่อกำกับไว้, ผักกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น และเงิน ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องนำสิ่งของเหล่านี้ผ่านผู้เข้าทรง ซึ่งยืนอยู่สองข้างทางเดิน เอาสิ่งของมอบให้ผู้เข้าทรง แล้วผู้เข้าทรงจะประทับตราสีแดง ด้านหลังเสื้อที่สวม ซึ่งเรียกว่า ค้ำยีน

- พิธีส่งพระ กระทำในวันสุดท้ายของเทศกาลกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดา หรือ เง็กเซียน ฮ่องเต้ ซึ่งจะส่งกันที่หลังเสาธง ส่วนกลางคืนจะส่งพระกิวอ๋องฮุดโจ้วกลับไปสู่สวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อส่งพระออกนอกประตู ตะเกียงที่เสาโกเต๊งจะถูกดับลง และกำลังทหารและม้าจะถูกส่งกลับ เป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ: คำในวงเล็บ เป็นคำภาษาถิ่นที่ใช้เรียกกันในจังหวัดภูเก็ต

ไม่มีความคิดเห็น: