วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551

ทำบูญเดือนสิบ วันสาร์ทไทย

ประเพณีรับส่งตายาย หรือบุญเดือนสิบ สารทเดือนสืบ หรือ 'รับเปรต ส่งเปรต' เพื่ออุทิศส่วนกุศลและแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ในวันรับตายายจะจัดอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน ไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัด ส่วนวันส่งตายาย มีการจัดเตรียมขนมตามคตินิยมเพื่อให้ตายายนำกลับไป จึงเรียกกันว่า 'หนมตายาย' นำไปถวายพระและส่วนหนึ่งเอาไปวางรวมกันไว้ตาม 'ตั้งเปรต' บริเวณประตูวัด ริมกำแพง โคนต้นไม้ในวัด หรือบน 'หลาเปรต' ที่สร้างยกพื้นขึ้นมา เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีเสร็จแล้วชาวบ้านจะเข้าไปแย่งของจากหลาเปรต อย่างสนุกสนาน เรียกว่าการ 'ชิงเปรต'

ประเพณีสารทเดือน 10 ประเพณีชักพระบก ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีสารทเดือน 10

เมื่อเอ่ยถึงประเพณีสารทเดือน 10 คนในพื้นที่จังหวัดในภาคไต้ ก็จะรู้จักกันดี รวมไปถึง คนใน 6 จังหวัดอันดามัน แต่ที่จัดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็เห็นจะไม่มึจังหวัดใด ทำได้เท่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวนครศรีธรรมราช ให้ความสำคัญกับประเพณีสารทเดือนสิบมาช้านาน จนถือเป็นประเพณีสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เมื่อถึงเดือนสิบ ลูกหลานชาวนครทุกคน ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน ห่างไกลแค่ใด จะต้องกลับมาร่วมทำบุญกับญาติพี่น้องที่เมืองนครฯ

ความเป็นมาของประเพณีสารทเดือนสิบ

ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชรับมาจากประเพณี “เปตพลี” ของอินเดีย เพราะนครศรีธรรมราชได้ติดต่อกับอินเดียมาเป็นเวลานาน ก่อนดินแดนอื่น ๆ ในประเทศไทย ดังนั้นวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ของอินเดีย ส่วนใหญ่จึงได้ถ่ายทอดมายังเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก

การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวนครถือปฏิบัติมาช้านาน โดยถือเป็นคติว่า พวกเปรต ซึ่งหมายถึง บรรพบุรุษพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและตกทุกข์ได้ยากในเมืองนรก จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเยี่ยมลูกหลานในเมืองมนุษย์ในช่วงเดือนสิบนี้ บรรดาลูกหลานจึงได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้พร้อม ๆ กัน อนึ่งในปลายเดือนสิบของทุกปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล ชาวเมืองซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรต่างก็ชื่นชมยินดีในผลผลิตของตน ดังนั้น จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เพื่อเป็นศิริมงคล แก่ตนเองและเรือกสวนไร่นา

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ เมื่อเริ่มฤดูฝน พระภิกษุก็ยากลำบากในการออกบิณฑบาต บรรดาชาวบ้านจึงนำพืชผลทั้งของสดของแห้ง นำไปถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นเสบียงในฤดูฝน โดยจัดเป็นสำรับหรือเรียกว่า “หมรับ”นอกจากทำบุญดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็จะมีงานรื่นเริงที่จัดขึ้น เพราะความภาคภูมิใจ สุขใจ อิ่มเอิบใจ ที่ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและการทำบุญเนื่องในโอกาสที่ได้รับผลผิตจากการเกษตร และชื่นชมในผลผลิตที่ได้รับ จึงร่วมกันจัดงานรื่นเริงยินดีหรรษา สนุกสนานประจำปีร่วมกัน

พิธีกรรม

ประเพณีสารทเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้ถูกปล่อยขึ้นมาจากนรก สำหรับวันนี้ลูกหลานบางคนจะประกอบพิธีต้อนรับ โดยการยกปิ่นโตและอาหารหวานคาวไปทำบุญที่วัด เรียกว่า “วันยกหมรับเล็ก” ส่วนบางคนก็จะยกไปประกอบพิธีในวันแรม 13–14–15 ค่ำทีเดียว

การเตรียมการสำหรับวันประเพณีสารทเดือนสิบ จะเริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเรียกว่า “วันจ่าย” ซึ่งในวันนี้ ประชาชนจะมาจับจ่ายซื้อขนมและสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในการจัดหมรับ โดยจะมีพ่อค้านำสิ่งของทั้งของสดและแห้ง ของเล่นมากมาย มาขายกัน มีผู้คนจากหลายแห่งมาซื้อของเหล่านั้น

การจัดหมรับ

ในสมัยโบราณการจัดหมรับ จะใช้กระบุงที่สานด้วยไม่ไผ่ เป็นภาชนะสำหรับบรรจุ แต่การจัดหมรับในปัจจุบันนี้ พวกกระบุงต่าง ๆ ที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติหายากขึ้น จึงนิยมใส่กะละมัง ถังถาด ฯลฯ ส่วนสิ่งของที่ใช้ในการจัดหมรับ ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ พวกพืชผัก เช่น มะพร้าว กล้วย อ้อย มัน ฟักเขียว ฟักทอง ข้าวโพด ฯลฯ นอกจากพวกอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กะปิ เกลือ น้ำปลา ฯลฯ และพวกขนมแห้งต่าง ๆ ที่เก็บไว้ได้นานๆ

เมื่อได้สิ่งของตามความต้องการแล้ว ก็จัดบรรจุใส่ในภาชนะ โดยนิยมใส่ข้าวสารรองก้นกระบุงและตามด้วยพวกเครื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ภายในครัวเรือน พวกหอม กระเทียม พริก เกลือ และอื่น ๆ ที่จำเป็น ชั้นต่อมาก็จัดพวกอาหารแห้ง ปลาเค็ม เนื้อเค็ม มะพร้าว ข้าวโพด พืชผัดต่าง ๆ ที่มีในฤดูกาล และเก็บไว้ได้นาน ๆ นอกจากนี้ ยังบรรจุของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย เช่น น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เข็ม ด้าย ธูป เทียน เครื่องเชี่ยน เช่น หมาก พลู ยาเส้น และยาสามัญประจำบ้าน

ถัดขึ้นมาชั้นบนสุด ซึ่งจะบรรจุสิ่งของที่เป็นหัวใจของหมรับ คือ ขนมห้าอย่าง อันเป็นเอกลักษณ์ที่จะขาดไม่ได้ คือ
1. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษ ใช้ข้ามห้วงมหรรณพ
2. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
3. ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้าที่ใช้สำหรับเล่นในวันสงกรานต์
4. ขนมดีซำ หรือ เมซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงิน เบี้ย สำหรับจับจ่ายใช้สอย
5. ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

แต่ผู้แก่ผู้เฒ่าบางคนท่านบอกว่า ขนมหัวใจของหมรับ 6 อย่าง คือ เพิ่มขนม ลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์แทน ฟูก หมอนอีกอย่างหนึ่งด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขนมต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดหมรับนั้น จะเก็บไว้ได้นาน โดยไม่บูกง่าย เพื่อจะได้เป็นเสบียงของประสงฆ์ได้ตลอดฤดูฝน

ในสมัยโบราณ เมื่อบรรจุสิ่งของต่าง ๆ และขนมลงในหมรับเรียบร้อยแล้ว ก็จะวางกระทงใบตอง ซึ่งเย็บเป็นลักษณะกลม ๆ ใส่ข้าวสุก แล้วเจียนใบตองให้กลม ปิดไว้บนกระทงใบตอง ก็จะมีกระทงเล็ก ๆ ใส่กับข้าวหวานคาว ที่พระภิกษุฉันได้ทันที เมื่อพระรับประเคนแล้ว จากนั้นก้เย็บกระทงเป็นกรวยแหลมคล้ายฝาชี ครอบไว้แล้วปักธูปเทียน และธงผ้าสี หรือธงกระดาษสีสวยงาม เรียกส่วนนี้ว่า “ยอดหมรับ” แต่ในปัจจุบันนี้ยอดหมรับ ได้เปลี่ยนเป็นธนบัตรไปติดแทน

เมื่อติดยอดหมรับเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำมาตกแต่งให้สวยงาม โดยสิ่งของหรือเครื่องเล่นพื้นเมือง เช่น ตุ๊กตา รูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย นก ไก่ ซึ่งประดิษฐ์จากไส้หญ้าปล้อง ไม้ระกำ กระดาษสี สวยงาม ซึ่งการนำเครื่องเล่นเหล่านี้ มาประดับตกแต่งหมรับนั้น ผู้จัดต้องพิจารณาว่าบรรพบุรุษของตนชอบอะไรเป็นพิเศษด้วย เช่น ปลากัด ไก่ชน วัวชน หนัง ละคร ฯลฯ ก็จะทำสิ่งนั้นติดหมรับข้อสังเกต สำหรับการจัดหมรับนั้น อาจจะจัดเฉพาะครอบคัว หรือจัดรวมกันเป็นกลุ่ม ในหมู่ญาติมิตรหรือจัดเป็นคณะใหญ่ ๆ ก็ได้แล้วแต่สะดวก

การยกหมรับ

เมื่อจัดตกแต่งหมรับเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำหมรับไปถวายพระที่วัด ซึ่งจะกระทำกันในวันแรม 14 ค่ำ หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วัน “ ยกหมรับ” โดยจะเลือกวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม วัดที่ใกล้บ้าน หรือ วัดที่เผาบรรพบุรุษของตนนิยม การแห่หมรับไปวัด จะจัดเป็นขบวน เล็ก ใหญ่ ตามจำนวนของผู้ร่วมจัดหมรับ บางขบวนจะจัดแข่งขันกันอย่างสวยงาม

การทำบุญในวันยกหมรับนี้ นอกจากหมรับแล้ว มีการนำอาหาร คาวหวานไปถวายพระด้วย อนึ่ง เสบียงอาหารในหมรับนั้น พระท่านจะได้ไปโดยการหยิบฉลาก ท่านจะไม่รับประเคน ดังนั้น เมื่อหยิบฉลากได้แล้ว ลูกศิษย์วัด หรือมัคทายก จะต้องเก็บไว้เอง แล้วค่อยนำมาประกอบอาหารเป็นมื้อๆ ถวายพระ จึงไม่นับว่าพระท่านสะสมอาหาร

การตั้งเปรต

เมื่อยกหมรับและถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็จะมีการ “ตั้งเปรต” ซึ่งแต่เดิมกระทำโดยการนำอาหารหวานคาว ใส่กระทงนำไปวางไว้ริมกำแพงวัด โคนต้นไม้ใหญ่ หรือตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยถือคติที่ว่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ไม่มีญาติมิตร หรือที่พวกลูกหลานไม่ได้มาร่วมทำบุญในวันนั้น บางแห่งมีการ “หลาเปรต” โดยยกเป็นร้านสูง ๆ แล้วนำอาหารไปวางไว้บนร้านนั้น เมื่อพระสวดบุงสุกุลก็จะนำมาพันหลาเปรตเอาไว้ เมื่อสวดเสร็จ บรรดาลูกหลานก็จะเข้าแย่งอาหารที่ตั้งเปรตเหล่านั้น เรียกว่า “ ชิงเปรต” ซึ่งถือว่าถ้าใครได้กินขนมที่ชิงเปรตมาก็จะได้กุศลแรง บรรพบุรุษอวยชัยให้เป็นศิริมงคลแก่ตนเอง

การฉลองหมรับ และบังสุกุล

การฉลองหมรับ และบังสุกุล กระทำในวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็นวันสารท ในวันนี้จะมีการทำบุญซึ่งเรียกว่า วัน “ หลองหมรับ” ตามคติโบราณถือว่า เป็นวันที่บรรพบุรุษที่ถูกปล่อยตัวมาตอนวันแรม 1 ค่ำ ได้เวลาที่จะกลับเมืองนรกดังเดิม บรรดาลูกหลานก็จะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พร้อมกัน เป็นการส่ง หากลูกหลานคนใดไม่มาทำบุญในวันนี้ถือว่า อกตัญญู และญาติพี่น้องที่ล่วงลับ จะได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัส

ความหมายของ คำศัพท์ในวันสารท

ตายาย

บรรพบุรุษที่ลาวงลับไปแล้วคนนครศรีธรรมราช เรียกพ่อของแม่ว่า “ พ่อเฒ่า” และเรียกแม่ของแม่ว่า “แม่เฒ่า” ไม่ได้เรียกตา หรือยาย อย่างภาษากลาง แต่ใช้คำว่า “ตา” เรียกผู้ชายชราคราวพ่อแม่โดยทั่วไป และใช้คำว่า “ยาย” เรียกผู้หญิงชราคราวแม่เฒ่าโดยทั่วไปและเมื่อเอ่ยถึง “ตายาย “ จะหมายถึง บรรพบุรุษ หรือเทือกเถาเลากอที่สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลต่อกันมา ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่สำหรับ “ตายาย” ที่เกี่ยวกับการทำบุญเดือนสิบ จะหมายถึง เฉพาะบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น โดยมีความเชื่อว่า ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ ถึง วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเป็นการชั่วคราว ในโอกาสนี้ลูกหลานจึงถือโอกาสทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้

วันรับตายาย

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือเป็นวันแรกที่บรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้ว ได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมลูกหลาน ลูกหลานก็จะทำบุญที่วัดเป็นการต้อนรับ บางท้องที่เรียกว่า “วันหมรับเล็ก”

วันส่งตายาย

วันแรก 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันสุดท้ายที่บรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมเยียนลูกหลาน จะต้องกลับไปอยู่ในอบายภูมิตามเดิม ลูกหลานจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครั้งใหญ่ บางท้องที่เรียกว่า “ วันหมรับใหญ่”

บังสุกุล

บังสุกุลภาษาใต้จะออกเสียงกร่อนพยางค์เป็น “บังกุล” หรือ บางทีเรียกว่า “บังสกุล” ในประเพณีทำบุญของชาวนครศรีธรรมราช นอกจะจัดอาหารและยกหมรับไปถวายพระแล้ว ญาติมิตรจะนำอัฐิของผู้ล่วงลับไปแล้ว ไปทำพิธีให้พระสงฆ์สวดบังสุกุล เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปยังเจ้าของอัฐิที่ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยพิธีบังสุกุลนี้จะกระทำหลังจากที่พระสงฆ์สวดมนต์และฉันภัตตาหารเพลเรียบร้อยแล้ว

เปรต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายความหมายว่า “ สัตว์พวกหนึ่งในอบายภูมิ แดนทุกข์ ผีเลวจำพวกหนึ่งมีหลายชนิด ชนิดหนึ่งตามที่ว่ากันว่า มีรูปร่างสูงโย่งเท่าต้นตาล ผมยาวหยอกหยอย คอยาว ผอมโซ มีปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบตาล กินแต่เลือดและหนองเป็นอาหาร มักร้องเสียงดังวีด ๆ ในตอนกลางคืน,เปต ก็ว่า”

หนังสือไตรภูมิพระร่วง ของพญาลิไท ได้กล่าวถึงรูปร่างลักษณะของเปรตไว้ว่า “ เปรตลางจำพวกตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มก็มี เปรตลางจำพวกผอมนักหนา เพื่ออาหารจะกินบ่มี แม้นว่าจะได้ขอดเอาเนื้อน้อยหนึ่งก็ดี เลือดหยดหนึ่งก็ดี บ่มิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลัง แลตานั้นลึกแลกลวงดังแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายนั้นหาบ่มิได้เลย เทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขา และเขาร้องให้ครางอยู่ทุกเมื่อแล

ตั้งเปรต

ตั้งเครื่องเปตพลีในวันสารทเป็นกิจกรรมการทำบุญเดือนสิบอีกส่วนหนึ่งในวันแรม 15 ค่ำ กล่าวคือ นอกจากนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านจะนำอาหาร ขนมเดือนสิบ และสิ่งของต่าง ๆ ไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ หรือริมกำแพงวัด หรือทางเข้าประตูวัด หรือ บนร้านที่จัดไว้ แล้วนำสายสิญจน์มาผูกไว้ให้พระสงฆ์สวดบุงสุกุล เรียกว่า การตั้งเปรตการตั้งเปรตนั้นเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่อแผ่ส่วนกุศลอุทิศให้ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติที่ไม่ได้มาทำบุญให้ ด้วยความเวทนาสงสารดังเพลงร้องเรือบทหนึ่งว่า

“สาวน้อยใจบุญเหอ ไปทำบุญวันสารทยกหมรับดับถาด ไปวัดไปวาพองลาขนมแห้ง จัดแจงเข้าต้าอี้หมาไปวัดไปวา สาเสดเวทนาเปรต เหอ”

ชิงเปรต

แย่งอาหาร ขนมหรือสิ่งต่าง ๆ ในประเพณีวันสารทเป็นกิจกรรมเมื่อเสร็จพิธีบังสุกุล ชาวบ้านทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่และเด็ก ๆ จะเฮโลไปแย่งชิงอาหารและขนมที่ตั้งเปรตมากินด้วยความสนุกสนานโดยความเชื่อว่า การกินอาหารและขนมที่ตั้งเปรตจะได้กุศลแรง เรียกว่า การชิงเปรตบางแห่งสร้างหลาเปรตให้สูง โดยใช้เสาไม้ไผ่หรือไม้หลาวชะโอน หรือไม้หมากเพียงเสาเดียว แทนเสาสี่เสาตามปกติ ขูดผิวจนลื่นแล้วทางน้ำมัน ให้คนแย่งกันปีนขึ้นไปชิงเปรต ซึ่งจะป่านปีนลำบากเพราะลื่น กว่าจะได้ต้องใช้เวลาและสนุกสนานมาก เป็นการชิงเปรตที่สนุกสนานไปอีกแบบหนึ่ง

หลาเปรต

เป็นศาลาหรือร้าน ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนนำอาหารขนมเดือนสิบหรือสิ่งของต่าง ๆ ไปวางเพื่อตั้งเปรต เรียกว่า “ หลาเปรต”

หนมเดือนสิบ

ขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช ใช้จัดเป็นสำรับ(หมรับ) มี 5 อย่าง คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ(เมซำ) ขนมกง (ขนมไข่ปลา) แต่บางที่มี 6 อย่าง โดยเพิ่ม ขนมลาลอยมัน อีกอย่างหนึ่งด้วย

พอง

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่งอัดเป็นแผ่นรูปต่าง ๆ ตากแห้ง แล้วทอดให้พองในน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมพองทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์ให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ใช้แทนแพล่องไปข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติของพระพุทธศาสนา

ลา

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวจ้าว ผสมน้ำตาลโรยทอดเป็นแผ่นบาง ๆ ในกะทะที่ทาน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมลา เวลาทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมลา ใช้แทนเสื้อผ้าแพรพรรณเครื่องนุ่งห่มที่ส่งไปถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

บ้า

ขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลเคี่ยว ปั้นเป็นลูกกลมๆแบนๆ ทอดในน้ำมันร้อน ๆจนสุกคนนครฯ ใช้ขนมบ้าทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมบ้า ใช้แทนลูกสะบ้า ส่งไปให้ถึงบรรพชนใช้ละเล่นในวันช่วงสงกรานต์

ดีซำ

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวจ้าว ผสมน้ำตาลเคี่ยว ปั้นเป็นรูปกลม ๆ แบนๆ เจาะรูตรงกลางแล้วทอดในน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมดีซำทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อว่า ขนมดีซำ จะเป็นเงินเบี้ยให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้ใช้สอย

ไข่ปลา

ชื่อขนมเดือนสิบอย่างหนึ่ง ทำด้วยถั่วเขียวผสมด้วยน้ำตาลเคี่ยว ชุบแป้งข้าวเหนียว ทอดในน้ำมันร้อน ๆ จนสุก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขนมกงคนนครฯ ใช้ขนมไข่ปลาทำบุญเดือนสิบ ด้วยความเชื่อที่ว่า ขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับสำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ลาลอยมัน

ขนมเดือนสิบอีกอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวจ้าวผสมน้ำตาลแบบเดียวกับขนมลา แต่โรยทอดในน้ำมันร้อน ๆ คนนครฯ ใช้ขนมลาลอยมันทำบุญเดือนสิบด้วยความเชื่อที่ว่า ขนมลาลอยมันนี้จะเป็นสัญลักษณ์แทนฟูก หมอน ส่งถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

“ทำบุญใหญ่เหอ ไปทำบุญวันสารทยกหมรับดับถาด ไปวัดไปวา"

ไม่มีความคิดเห็น: